โพสต์แนะนำ

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 "เตรียมตัวก่อนเข้าป่า"

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 ทำไมต้องเดินป่า การเดินในป่า เป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ...

คู่มือเดินป่า..ตอนที่ 8 "อาหาร"

อาหาร


กฎข้อที่สามของการเดินป่าคือ ..... อาหาร 

     นายพรานจะพกอาหารอย่างน้อยที่สุดคือ ข้าวและเกลือ เพราะ 2 สิ่งนี้ทำให้เขามีชีวิตรอดได้ ข้าวเป็นตัวหลักในการสร้างพลังงาน ส่วนเกลือโซเดียมเป็นแร่ธาตุที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบ ประสาท เมื่อขาดเกลือแล้ว ขาจะอ่อนแรง เดินแล้วล้มง่าย ถ้าขาดมากๆ จะไม่มีแรงเดิน เคยมีเหตุการณ์จริงของคนที่เข้าป่า แล้วลืมเกลือไว้กลางทาง ทำให้เป็นตะคริว เดินต่อไปไม่ได้



   คนเดินป่า เป็นโรคขาดสารอาหารได้ง่าย เพราะ เวลาเข้าป่า มักจะแบกอาหารไปได้ไม่หลากหลาย เวลากินข้าวก็เช่นกัน เรามักจะกินข้าวได้ไม่มาก เพราะกับข้าวน้อย แถมไม่อร่อยเพราะเครื่องปรุงไม่ครบ ประกอบกับการเดินป่าตลอดทั้งวัน ต้องเสียเหงื่อมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่มาก หากกินอาหารไม่ครบ จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีแรงเดิน เข้าป่าไปได้ไม่กี่วันก็เริ่มแย่ อยากจะออกจากป่าแล้ว คนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงปลายทาง ก็เพราะสาเหตุนี้ ถ้าขาดสารอาหารอยู่ในป่า ก็จะป่วยง่าย เพราะเชื้อโรคในร่างกายจะขยายตัวได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะออกจากป่ามาแล้ว ถ้ายังขาดสารอาหาร จะมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

      เมื่ออยู่ในเมืองก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะ เหนื่อยง่าย สมองไม่แจ่มใส ดังนั้น เวลาเข้าป่า ควรพกกับข้าวไปมากๆ เน้นอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง เช่น  เห็ด, ผลไม้แห้ง, เวย์โปรตีน, อาหารทะเลแห้ง, สาหร่ายทะเล  ถ้าเป็นพวกผักเช่น ต้นหอม ผักชี หอมแดง ให้หั่นเป็นฝอย แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง เก็บใส่กระปุกไว้  สังเกตุว่าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง เพราะมีน้ำหนักเบา ช่วยลดน้ำหนักเวลาแบกเป้ ยกเว้น ถ้าไปค้างคืนเดียว ซื้อกับข้าวปรุงสำเร็จที่ขายตามร้านหรือตามซุปเปอร์มาร์เก็ตติดไปจะ สะดวกกว่า ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็ต้องทอดหรือผัดแล้ว จะเก็บได้นานกว่าอาหารที่ไม่มีน้ำมันอย่างพวกยำหรือลวก เมื่อถึงที่พักนำมาอุ่นแล้วเก็บต่อไปกินวันรุ่งขึ้นได้

ในอาหาร 5 หมู่ อาหารแห้งที่หาซื้อยากที่สุดคือ ผักแห้ง ถ้าซื้อผักสดมาตอนเช้า พอตอนเย็นก็จะเริ่มเหี่ยว เพราะผักคายน้ำออก ผักบางชนิดเก็บได้หลายวัน เช่น แตงกวา, มะเขือเทศ, ถั่วฝักยาว เก็บได้ 2-3 วัน ถ้ากะหล่ำปลีอาจเก็บได้ 4-5 วัน แต่ปัญหาของผักสดคือ มีน้ำหนักมากเพราะมีน้ำปนอยู่ แต่ถ้าเราไม่กินผัก จะเป็นโรคขาดสารอาหารพวกแมกนีเซียม เพราะแมกนีเซียมพบน้อยในข้าวและเนื้อสัตว์ แมกนีเซียมในผักจะอยู่กับคลอโรฟิลล์ ทำให้ผักมีสีเขียว ผักที่ขาดแมกนีเซียมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ในป่าไม่ค่อยมีอาหาร โอกาสเจอพวกผักผลไม้ในป่ามีน้อย  แม้แต่นายพรานยังต้องแบกข้าวสารและน้ำพริกเข้าไปด้วย ถ้าไปเจอกบ เจอเต่ากลางทางก็จับกินเพื่อประหยัดกับข้าว  ถ้าอาหารขาด อาจเดินไปขอจากคนรู้จักในป่า เช่น พวกลักลอบตัดไม้ แม้แต่พระธุดงค์ก็ต้องแบกอาหารเข้าไป ยกเว้นท่านที่เก่งแล้วขอบิณฑบาตอาหารจากเทวดาได้ หรืออยู่ด้วยธรรมปิติคือไม่ต้องกินข้าว ดังนั้น จะเข้าป่าต้องเตรียมอาหารไปให้เพียงพอกับจำนวนวัน และ ต้องเผื่อผิดพลาดอีกประมาณ 3 วัน เผื่อในกรณีที่หลงป่า หรือ บาดเจ็บทำให้เดินช้า จะได้มีอาหารกินจนกว่าจะออกจากป่า ปกติแล้ว เวลาหลงป่า มักจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1-2 วัน แต่ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้เราต้องติดอยู่ในป่าเป็นเวลานานกว่านั้น ผมเคยมีเพื่อนที่เคยโดนตัวต่อรุมต่อยแถวที่พัก ถึงแม้ว่าเขาจะกระโดดลงน้ำหนี แต่ก็บวมไปทั้งตัว ต้องนอนพักอยู่ในป่าถึง 1 สัปดาห์ กว่าจะพอเดินออกมาไหว

คนที่หาอาหารในป่าได้ มักจะรู้แหล่งอาหารในป่า เช่น รู้ว่ามีบ่อน้ำเก่าอยู่ตรงไหน มีดงผักอยู่ตรงไหน แต่ถ้าปีไหนอากาศแปรปรวน ผักที่เคยกินได้ก็อาจจะไม่มีให้กิน คนหาของป่า มีความรู้ไม่มากนักว่า ผักผลไม้อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ เพราะต้องอาศัยเรียนรู้มาจากคนรุ่นก่อน ไม่มีสอนในโรงเรียน และไม่มีในตำรา ดังนั้น ถ้าไม่รู้จัก เขาจะไม่กิน เช่นเดียวกับสัตว์ป่าที่คนนำมาเลี้ยงจนโต พอนำไปปล่อย ก็จะหากินเองไม่ได้ เพราะสัตว์เรียนรู้จากแม่ของมัน

พื้นที่แต่ละแห่งจะมีพันธุ์ไม้แตกต่างกัน ต้นไม้ที่ขึ้นในป่าดิบแล้งเช่น แถบเขตฯทุ่งใหญ่นเรศวร จะไม่พบตามป่าดิบชื้น เช่น อช.เขาใหญ่  คนที่รู้ว่าอะไรกินได้ จำเป็นต้องอาศัยศึกษามาจากคนในพื้นที่ หรือใช้วิธีสังเกตุ จากร่องรอย เช่น รอยเท้าของสัตว์ใหญ่มากิน รอยแทะของกระรอกหรือหนู ถ้าสัตว์กินได้คนก็กินได้ ถ้าเป็นพืชน้ำก็มีปลากิน แต่ถ้าเป็นผลไม้ลูกเล็กๆที่นกกิน อาจจะมีพิษ หรือกินได้แต่ไม่อิ่ม แต่ถ้าไม่มีสัตว์มาแตะต้อง ก็ไม่ควรกิน วิธีสังเกตุพืชมีพิษคือ จะไม่มีแม้แต่แมลงมาแตะต้องเลย ถ้าต้องการทดลอง ให้เริ่มต้นด้วยการเด็ดมา ลองดมกลิ่นดู พืชที่มีกลิ่นแรง มักจะมีสารเจือปนมาก กินไม่ได้ พืชที่มียาง มักจะฝาดและขม กินไม่ได้ ลองเด็ดมาถูที่เนื้ออ่อน อย่างเช่นหลังมือ ดูว่าแพ้หรือไม่ ลองใช้ลิ้นแตะ ลองชิม แล้วลองเคี้ยวดู จำนวนน้อยๆก่อน ถ้ารู้สึกผิดปกติให้รีบล้างปาก

พิษในพืชป่า มักจะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ ชิมดูจะมีรสขม อาจเป็นไซยาไนด์ แตะผิวหนังหรือลิ้นแล้วคัน อาจเป็นออกซาเลต (เพราะออกซาเลตมีลักษณะเป็นเข็มเล็กๆ) พืชส่วนใหญ่จะมีออกซาเลต มากบ้างน้อยบ้าง ถ้ากินมากไปจะมีโอกาสเป็นนิ่วสูง พืชที่มีออกซาเลตมากคือพวก ใบชะพลู ผักโขม เผือกดิบ ส่วนมันสำปะหลังดิบ จะมีไซยาไนด์ (มันสำปะหลังมี 2 พันธุ์คือแบบหวาน และแบบขม แบบหวานมีไซยาไนด์น้อย คนและสัตว์จึงกินได้หากนำมาผ่านความร้อนแล้ว ส่วนแบบขมมีไซยาไนด์มาก ปลูกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม), ในถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว หรือกวาวเครือขาว มีฮอร์โมนเพศหญิงสูง ไม่เหมาะกับคนทุกวัย แม้แต่ผู้หญิงกินก็ไม่ดี, บิโกเนีย(ที่พบบนยอดเขาทางภาคใต้) และมะขาม เป็นยาระบายอ่อนๆ ฯลฯ  ถึงแม้ว่าถ้านำมาผ่านความร้อน อาจทำให้พิษลดลงได้บ้าง แต่ถ้ากินแทนข้าว เราก็จะป่วย พืชบางชนิดกินจำนวนน้อยๆก็ป่วย ผมเคยกินแกงบิโกเนียบนเขาแค่ไม่กี่ต้น วันรุ่งขึ้นยังถ่ายตั้งหลายรอบ ด้วยเหตุนี้ สัตว์กินพืชทุกชนิด จึงต้องกินดินโป่ง เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุ ไปช่วยขับสารพิษที่ได้รับจากการกินพืช (ดินโป่งคือดินที่มีแร่ธาตุสูง) เช่นเดียวกับร่างกายคนที่ต้องอาศัยแร่ธาตุ อย่างเช่น โซเดียม แมกนีเซียม ไปจับกับสารพิษต่างๆแล้วขับออก นอกจากนี้ ลำใส้ของมนุษย์ไม่มีแบคทีเรียย่อยสลายพวกเซลลูโลสหรือไฟเตทเหมือนสัตว์กินพืช มนุษย์จึงไม่สามารถอยู่รอดได้ ด้วยการกินพืชเพียงอย่างเดียวเหมือนสัตว์



กินแล้วตายได้ ก่อนที่จะเก็บมากิน จึงต้องรู้จักพืชชนิดนั้นแน่ชัด อย่างเช่น ต้นบอน ที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ มี 3 ชนิด แต่มีหน้าตาคล้ายกัน คือมีใบรูปหัวใจ ส่วนใหญ่สูงระดับเอว บอนชนิดที่กินได้คือ บอนหวาน กินสดๆได้เลย สังเกตุว่า ใบจะมีสีเขียวสด ไม่มีสีขาวปน ลำต้นจะมีสีเขียว อาจแกมแดงหรือแกมม่วง แต่ไม่มีสีขาวเคลือบ ยางไม่มีสี ยางโดนหลังมือแล้วไม่คัน กินได้ทั้งต้นอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อน แต่ถ้าจะกินลำต้นต้องลอกเปลือกแข็งออก บอนอีกชนิดที่หน้าตาคล้ายกัน คือ บอนคัน มีออกซาเลต กินสดๆแล้วจะคันปากคันคอ แต่ไม่เป็นอะไร ดื่มน้ำอุ่นมากๆก็จะหาย สังเกตุว่า ใบจะมีสีขาวนวล ต้นสีเขียวอ่อนมีสีนวลเคลือบจนเกือบขาว ยางมีสีเขียวน้ำเงิน ยางโดนหลังมือแล้วคัน บอนคันนำมากินได้เช่นกัน แต่ต้องนำมาทำลายพิษ ด้วยการผ่านความร้อนจนจับดูแล้วเละ จึงจะกินแล้วไม่คัน อาจนำมานึ่ง ต้ม หรือ ใส่กระบอกไม้ไผ่ย่าง ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือจะนำลำต้นมาเผาไฟทั้งเปลือก จนเปลือกดำหรือเปลือกพอง แล้วจึงลอกเปลือกออกมากินเนื้อข้างใน นอกจากนี้ ในดงบอน ยังมีบอนมีพิษอีกชนิด ขึ้นปะปนอยู่ด้วย คือต้นโหรา สังเกตุว่าจะมีใบใหญ่กว่า สีเข้มกว่าและหนากว่า ยางมีสีส้มอ่อนๆ เคยมีคนไม่ระวัง ตัดต้นโหรามาปน แล้วนำมาทำแกงส้ม ปรากฎว่าคนกินป่วยกันหมด บางคนน้ำลายฟูมปาก บางคนช็อคหมดสติ จะเห็นว่าวิธีแรกที่จะดูว่าบอนกินได้หรือไม่ คือ ดูที่ยาง ยางต้องใส ไม่มีสีริมลำธารในป่ามีผักขึ้นอยู่หลายชนิด สามารถเด็ดมากินได้ แต่พืชบางชนิดมีพิษ





ผักหนาม ขึ้นตามริมน้ำ มีหนามตามลำต้นจนถึงยอดอ่อน
ผักหนาม เป็นตัวอย่างของผักมีพิษอีกชนิด ที่กินได้ แต่กินดิบไม่ได้ เพราะ ในผักหนามดิบ จะมีไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ก่อนนำมาปรุงอาหาร จึงต้องนำมาต้มแล้วเทน้ำทิ้งก่อน ผักหนามชอบขึ้นอยู่ริมน้ำ บริเวณที่มีร่มเงา ลำต้นขนาดเล็ก ตั้งเกือบตรง สูงเหนือหัวเข่าจนถึงเอว ไม่มีใบตรงกลางลำต้น แต่มีใบอยู่ตรงปลาย ใบมีขนาดใหญ่ บานออกเป็นแฉก วิธีสังเกตุนอกจากใบคือ จะมีหนามตามลำต้น จึงเรียกว่าผักหนาม วิธีกินคือ เด็ดยอดอ่อนมาต้ม หรือทำพวกแกงส้ม กินพร้อมหนาม

พืชที่พบได้ทุกภาค เช่น หน่อไม้และกล้วย โดยเฉพาะกล้วย กินได้เกือบทุกส่วน ทั้งหัวปลีสีม่วง ที่ลอกเปลือกออก จนถึงเนื้อสีขาวด้านใน, หยวกกล้วย คือแกนกลางของต้นกล้วย เลือกต้นที่ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป คือลำต้นขนาดประมาณข้อมือ เพราะถ้าต้นอ่อนเกินไปจะไม่มีแกน ถ้าแก่เกินไปจะเริ่มมีเส้นใย, ผลกล้วยอ่อนสีเขียวเล็กๆเท่านิ้วก้อย เม็ดจะอ่อนกินได้ทั้งเม็ดและเปลือก นำมาล้างน้ำแล้วกินดิบๆ หรือต้มกิน โดยลองหักดู ถ้าเม็ดสีดำแสดงว่าแก่ เม็ดจะแข็ง กินไม่ได้ เนื้อก็มีน้อย กินไม่อิ่ม

พืชตระกูลเฟิร์น 3 ชนิดที่คนกินกัน คือ ผักกูด, ผักแว่น, และ ลำเท็ง(ผักกูดแดง) ทุกชนิดล้วนขึ้นอยู่ริมน้ำ ถ้าเป็นป่าทางใต้ จะมีเฟิร์นอีกชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ริมน้ำ คือ ต้นมหาสดำ ยอดอ่อนสามารถกินได้เช่นกัน แต่ยอดอ่อนอยู่ด้านบนสุด และต้นจะสูงเกินกว่ามือเอื้อมถึง ลำต้นเป็นขนแข็งๆลื่นๆ ปีนไม่ไหว



ผักกูด คือ ยอดเฟิร์นที่ขึ้นริมน้ำ ส่วนยอดที่กินได้ จะหงิกๆงอๆ

ผักกูด เป็นผักที่พบบ่อยมาก ในป่าที่มีความชื้นสูง และมีแสงแดดน้อย เวลาอยู่ริมน้ำ มองหาตามตลิ่ง  ตรงรอยต่อระหว่างน้ำกับผืนดิน เป็นจุดที่น้ำท่วมถึง จะเจอต้นเฟิร์น ดูเหมือนเฟิร์นทั่วไป ต้นเตี้ยๆสูงประมาณหัวเข่า บางต้นอาจชี้ขึ้นมาสูงกว่านั้น แต่ไม่เกินระดับเอว เมื่อเข้าไปใกล้ มองหาดีๆ จะเจอยอดอ่อนแซมอยู่ บางยอดม้วนเป็นก้นหอย ส่วนที่เก็บมากินได้คือ ต้นอ่อน สังเกตุว่าใบสีเขียวอ่อน ทุกใบยังหงิกๆงอๆอยู่ และเด็ดง่าย แต่ถ้าเป็นต้นแก่แล้ว ใบจะตรง เป็นสีเขียวแก่ ไม่นำมากิน หากเด็ดต้นอ่อนมาลองดมดู จะมีกลิ่นเขียวของผัก เป็นกลิ่นอ่อนๆ ถ้าลองเคี้ยวดูจะกรอบๆ รสชาดเหมือนผักกูดที่ขายในตลาด ถือว่าใช้ได้ ส่วนเฟิร์นที่อยู่ไกลน้ำ จะไม่ใช่ผักกูด สังเกตุว่าหน้าตาจะแตกต่างออกไป

>>>>อ่านต่อยาวไปเลย<<<<

ปกติในป่าที่มีสัตว์ จะหาผักกูดยาก เพราะโดนสัตว์แย่งกินหมด บางครั้งอาจต้องพักในจุดที่ไม่มีผัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพกผักติดตัวไปส่วนหนึ่ง ผักที่พกง่ายที่สุดคือ สาหร่ายทะเลแห้ง

ธรรมชาติของคน เวลากินผัก จะกินเฉพาะส่วนที่อ่อนๆ อย่างเช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน ฝักอ่อน จะไม่กินส่วนที่แก่ อย่างใบแก่ เพราะย่อยยาก ส่วนที่แก่จะกินเมื่อไม่มีทางเลือก แม้แต่สัตว์อย่างกวางหรือช้าง ก็ยังเลือกกินแต่ยอดอ่อน

ผักแต่ละชนิด มีพิษปนอยู่ไม่เท่ากัน บางชนิดมีพิษน้อยมาก กินได้ในปริมาณมากหน่อย และกินต่อเนื่องได้ทุกวัน อย่างเช่น ย่านาง ซึ่งรู้ได้จากการอ่านงานวิจัยที่คนทดลองกับสัตว์ แต่ผักบางชนิดมีพิษปนอยู่มากกว่า หากกินมากเกินไปอาจจะป่วยได้ ดังนั้นถึงแม้จะรู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นผักที่คนกินได้ แต่ไม่รู้ว่ากินได้ในปริมาณเท่าไหร่ การกินผักให้ปลอดภัยคือ กินแต่พอดี เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับพิษมากเกินไป อาศัยกินให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ผักชนิดไหนที่คนไม่กิน เพราะมีพิษมาก มีตัวอย่างของเด็ก ที่เก็บเมล็ดสบู่ดำหรือผักที่หน้าตาคล้ายผักตามบ้านมากิน แล้วป่วยเข้าโรงพยาบาลกันหมด เถาวัลย์บางชนิดก็เป็นยา จริงๆแล้วยาหลายตัวในโลกก็สกัดมาจากพืช ถ้ากินพืชในปริมาณเล็กน้อย จะไม่มีปัญหา ร่างกายจะขับพิษส่วนเกินออกได้ แต่ถ้ากินในปริมาณมากหรือกินซ้ำๆ เราก็จะป่วย

จะเห็นว่าหลักการกินพืชคือ ถ้าไม่รู้จักแน่ชัด ไม่ควรกินเลย โดยเฉพาะเห็ดในป่า ห้ามกินเลย เพราะ เห็ดพิษ กินเข้าไปแค่ชิ้นเดียวก็ตายได้ มีกะเหรี่ยงหรือชาวบ้านหาของป่า ตายเพราะกินเห็ดพิษที่เก็บมาจากในป่า อยู่เป็นประจำ เห็ดพิษอาจมีหน้าตาคล้ายกับเห็ดที่คนกินจนแยกไม่ออก บางทีเห็ดพิษก็ขึ้นปะปนอยู่กับเห็ดไม่มีพิษ เห็ดพิษที่ตายกันบ่อยมากคือ เห็ดระโงกหินพิษที่มีหน้าตาคล้ายเห็ดระโงกขาวกินได้ แต่เห็ดพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง หรืออย่างเห็ดที่มีหน้าตาคล้ายเห็ดโคน เห็ดโคนพิษจะมีใบร่มมีเกล็ดเหมือนหนังงูเห่า ก้านตันจากโคนถึงใบร่ม ส่วนเห็ดโคนที่ไม่มีพิษ จะมีก้านกลวง เคยมีชาวบ้านหลายคนเก็บเห็ดที่มีหน้าตาคล้ายเห็ดโคนและเห็ดนางฟ้า กินเข้าไป 3 ชม.จึงเริ่มออกอาการ เวียนหัวอาเจียน มือเท้าชา ถ่ายเหลว คนที่กินเยอะกว่า จะออกอาการมากกว่า ต้องรีบหามส่งโรงพยาบาลล้างท้อง บางรายโชคดีที่เห็ดยังไม่มีพิษมากนัก จึงรอดมาได้ เห็ดพิษไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสีสันสวยงามเสมอไป อย่างเช่น เห็ดระโงกหินชนิดที่รูปกะทะคว่ำสีขาว



ชาวป่าจะรู้วิธีกำจัดสารพิษออกจากพืช โดยอาศัยการสังเกตุ แล้วสอนกันมารุ่นต่อรุ่น หรืออาจจะทดลองให้สัตว์เลี้ยงกิน การนำมาผ่านความร้อน จะทำให้สารพิษสลายตัวไปได้มาก หรือ นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงนำไปแช่น้ำค้างคืน สารพิษจะละลายน้ำไปจนเหลือน้อย พืชบางชนิดนำไปหมัก สารพิษจะสลายตัวไป  พืชที่กินสดๆได้คือ ผลไม้ แต่ไม่กินเปลือกหรือเมล็ด เพราะนอกจากจะย่อยยากแล้ว ยังมีพิษมาก อย่างเช่นเปลือกมะนาว มีออกซาเลตสูง เมล็ดพืชบางชนิดก็มีไซยาไนด์สูง ร่างกายย่อยเมล็ดพืชไม่ได้ อย่างเช่นเม็ดกระท้อนที่เป็นข่าว เมื่อไหลลงไปในลำใส้จะแทงทะลุลำใส้ทำให้ปวดท้อง เป็นแผลติดเชื้อถึงตายได้ รากและหัวที่ขุดมาจากใต้ดินก็สะสมพิษไว้มาก คนจึงนำส่วนของรากมาใช้เป็นยารักษาโรค หรือ ยาฆ่าแมลง

พืชที่เป็นหัวในดิน อย่างเช่น หน่อไม้ มักจะมีไซยาไนด์ปนอยู่ตามธรรมชาติ คนจะรู้วิธีกำจัดพิษคือ นำมาดอง ต้ม หรือเผา จะลดพิษลงไปได้มากพอสมควร หน่อไม้มีหลายชนิด แต่ละชนิด จะมีไซยาไนด์ในปริมาณไม่เท่ากัน หน่อไม้ที่กินดิบได้ คือพวกหน่อไม้หวาน ชิมดูไม่มีรสขม ต้มแล้วเนื้อมีสีขาว น้ำต้มยังใสไม่เหลือง ชิมน้ำต้มไม่มีรสขม แสดงว่าไม่มีไซยาไนด์ (ยกเว้นต้มทั้งเปลือก น้ำต้มอาจเป็นสีม่วงของเปลือก ซึ่งเหมาะสำหรับกินกับน้ำพริก

 เพราะการต้มทั้งเปลือกจะได้กลิ่นหอมหวานเหมือนข้าวโพด แล้วจึงยกออกจากไฟ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที) ส่วนหน่อไม้ที่มีไซยาไนด์ ลองชิมดิบๆ จะมีรสขม ถ้ายิ่งขมมาก จะยิ่งมีไซยาไนด์ปนอยู่มาก ต้มแล้วเนื้อจะมีสีเหลือง น้ำต้มมีสีเหลือง ชิมน้ำต้มมีรสขม นั่นคือไซยาไนด์ที่ละลายออกมา ต้องเทน้ำทิ้ง แล้วต้มจนน้ำหมดรสขม จึงจะกินเนื้อได้ เวลาต้มให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จะช่วยให้จืดเร็วขึ้น ถ้ามีพิษน้อย อาจจะต้มแค่ 10 นาที แต่ถ้ามีพิษมาก อาจต้องต้มนานถึง 2 ชั่วโมง แต่ถ้าต้มทั้งหัวอาจต้องต้มนานอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง

 การเผาก็เช่นกัน ต้องเผาจนกว่าจะหมดรสขม เมื่อผ่านความร้อนแล้ว จะมีพิษเหลือตกค้างอยู่น้อย ถ้ากินไม่มากเกินไป กินแบบคนทั่วไปกิน คือประมาณ 1 จานหรือ 1 กำมือ จัดว่าปลอดภัย ร่างกายสามารถใช้โปรตีนและแร่ธาตุขับไซยาไนด์ออกได้ทางปัสสาวะ มีตัวอย่างของคนแอฟริกา ที่กินมันสำปะหลังแล้วกินโปรตีนไม่พอ ทำให้ป่วยกันมาก แต่ถ้าได้รับไซยาไนด์มากเกินไปจนขับออกไม่ทัน จะมีอาการทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หน้ามืดตาลาย หูหนวก แน่นหน้าอก ปวดหัว เวียนหัว ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง อัมพาติฉับพลัน ฯลฯ ในเมืองไทยเคยมีเด็กหลายคน (ข่าวปีพ.ศ.2550,2555) ที่ตายเพราะกินมันสำปะหลังดิบ โดยก่อนตายมีอาการ คลื่นใส้อาเจียน ชักดิ้น น้ำลายฟูมปาก แม้แต่สัตว์ตัวใหญ่ๆอย่าง วัวควาย ก็เคยตายเพราะกินมันสำปะหลังดิบมาแล้ว

เนื้อสัตว์ ถึงแม้จะปลอดภัยกว่าพืช เพราะไม่มีพิษปนเปื้อนเหมือนพืช สัตว์กินเนื้อจึงไม่ต้องกินดินโป่ง แต่เนื้อสัตว์ก็ไม่ควรกินดิบๆ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ เพราะ อาจมีเชื้อโรคหรือพยาธิอยู่ เคยมีคนกินหมูดิบแล้วตาย แม้แต่ไข่หรือนมดิบๆ ก็มีแบคทีเรียที่ทำให้คนกินแล้วป่วย สัตว์เล็กๆ ตั้งแต่นก กบ อึ่งอ่าง ไปจนถึงแมลง บางชนิดมีพิษที่ได้มาจากอาหารตามธรรมชาติ เช่น กบกินแมลงมีพิษ แล้วพิษสะสมอยู่ตามผิวหนัง สัตว์บางชนิดมีพิษสร้างขึ้นเอง เช่น คางคกจะมีต่อมพิษอยู่เหนือตาทั้งสองข้าง ถ้าทำให้มันตกใจ เช่น จับมันมาวางไว้บนฝ่ามือ บางตัวจะปล่อยพิษ ซึมออกมาเป็นยางสีขาวๆ (บางตัวก็ไม่ปล่อย) ถึงแม้ว่าพิษของคางคก โดนมือแล้วไม่มีอาการร้ายแรง ถ้าปล่อยให้ซึมเข้าไปในผิวหนัง อาจแค่ชาๆ มีเลือดคั่ง แต่ถ้ากินเข้าไปจะมีอันตรายมาก เคยมีคนตายเพราะกินคางคก โดยไม่ได้เอาส่วนที่มีพิษออก แม้แต่ไข่คางคก ก็เคยมีคนกินแล้วตาย แม้แต่ปลาถ้ากินไข่คางคกหรือลูกอ๊อดก็ยังตาย ถ้าคนนำปลาตัวนั้นมากินก็จะได้รับพิษไปด้วย ถึงแม้ว่าจะนำไปทำให้สุก ก็ไม่สามารถทำลายพิษด้วยความร้อน (ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรกินสัตว์ที่ตายโดยไม่รู้สาเหตุ เพราะมันอาจตาย เพราะได้รับพิษจากอาหารหรือสารเคมี) หรือแม้แต่สัตว์น้ำบางฤดูก็อาจมีพิษ อย่างเช่น ปลาที่อยู่ในลำห้วย อาจกินลูกไม้ที่มีพิษเข้าไปสะสมไว้ ถ้าคนกินเนื้อปลาจะเมา อ้วก หรือป่วย ดังนั้น การกินสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ควรได้รับคำแนะนำจากคนในพื้นที่

ธรรมชาติของคนจะกินแต่เนืัอสัตว์ ไม่กินเครื่องใน เพราะ เครื่องในมีพิษมาก เช่น มีทองแดงสูง เมื่อเทียบกับเนื้อล้วนๆซึ่งมีทองแดงน้อยมาก ทองแดงที่มากเกินไปจะทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ หรืออย่างกรดยูริกที่พบตามเครื่องในทั่วไป ที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคข้อเสื่อม หรืออย่างตับ ที่ถึงแม้จะเป็นแหล่งสะสมวิตามินและแร่ธาตุ แต่ก็มีสารพิษสะสมไว้มากเช่นกัน เพราะตับทำหน้าที่กรองสารพิษออกจากร่างกาย ถึงแม้จะเป็นอาหารตามธรรมชาติ ก็มีสารพิษซ่อนอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป สารพิษเช่น dioxin และโลหะหนักอย่าง สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม จะเข้าไปสะสมในตับ

โปรตีน ควรจะพกไปให้เพียงพอ เพราะการเดินป่าทั้งวัน ต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายต้องการโปรตีนมากขึ้น เพื่อไปซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่สึกหรอ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องใช้แรงมากๆ และเวลาขึ้นภูเขาสูงที่มีออกซิเจนน้อย ร่างกายจะต้องใช้โปรตีนเพื่อสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น เวลาที่เริ่มรู้สึกว่าไม่สบาย กินโปรตีนแล้วนอนมากๆ ตื่นมาจะแข็งแรงเหมือนเดิม เพราะโปรตีนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ ถึงแม้ว่าเวลากินโปรตีนไม่พอ ร่างกายจะดึงโปรตีนจากอวัยวะส่วนต่างๆมาใช้ แต่เวลานั้นระบบต่างๆในร่างกายจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายดูดซึมแมกนีเซียมได้น้อยลง ร่างกายขับสารพิษได้น้อยลง และเนื่องจาก ร่างกายไม่สามารถสะสมโปรตีนไว้ใช้ในยามขาดแคลนได้จำนวนมาก เหมือนคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แถมโปรตีนยังเป็นส่วนประกอบของพลังงานถึง 15-20% จึงควรพยายามกินโปรตีนสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน เวลาที่ต้องใช้แรงมากๆ จะไม่เหนื่อยง่าย แหล่งโปรตีนที่ดี เช่น อาหารทะเลแห้ง (หาซื้อที่ตลาดแม่กลองจะราคาถูกและมีให้เลือกมาก ส่วนจังหวัดอื่นอย่าง ฉะเชิงเทรา จะมีให้เลือกน้อยและแพง เพราะรับมาจากที่อื่น), เวย์โปรตีนแบบ concentrate, ไข่ แหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดมาจากเนื้อสัตว์ แต่ไม่ควรพึ่งโปรตีนจากแหล่งเดียว จะทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบ เช่น นมมีแคลเซียมสูงแต่ธาตุเหล็กต่ำ ทำให้คนป่วยเป็นโรคแคลเซียมเกินหรือโลหิตจาง และไม่ควรพึ่งโปรตีนจากพืชเป็นหลัก เพราะพืชมีกรดอะมิโนไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ และพืชมีพิษปนอยู่ เช่น จมูกข้าวสาลีอบแห้งมีกรดออกซาลิกสูง

กล่องใส่ไข่

ไข่ เป็นโปรตีนที่พกเข้าป่าดีมาก เพราะเก็บได้นาน และ กินกับข้าวได้ทุกวัน โดยเฉพาะไข่เค็มจะช่วยให้ไม่ต้องเติมน้ำปลา ยิ่งใส่มะนาวไปจะยิ่งอร่อย แต่ปัญหาของไข่คือจะแตกง่าย ถ้าไม่มีกล่องพลาสติกใส่ อาจเปลี่ยนมาใช้ฝอยทองกรอบแทนได้ ไข่ที่ต้มสุกแล้วะเก็บได้ไม่นานเท่าไข่ดิบ การพกไข่ดิบต้องใส่ไว้ในกล่องแข็งๆที่ป้องกันไม่ให้ไข่ขยับเขยื้อน ซึ่งปัจจุบันมีกล่องใส่ไข่โดยตรงขาย มีน้ำหนักเบาเพราะทำจากพลาสติก แต่แข็งโดนกดทับแล้วไข่ไม่แตก ส่วนวิธีอื่นๆที่ใช้ได้คือ ใส่ในกล่องทั่วไป โดยห่อไข่ด้วยพลาสติกฟองอากาศกันกระแทก แต่วิธีนี้เหมาะสำหรับเวลาไปกันหลายๆคน ซึ่งสามารถกินไข่ในกล่องให้หมดได้ในมื้อเดียว เพราะ การดึงไข่ออกมาฟองหนึ่ง จะเริ่มมีช่องว่างในกล่องทำให้ไข่ส่วนที่เหลือขยับได้ บางคนใช้วิธีใส่ข้าวสารลงในหม้อสนามจำนวนหนึ่ง ใส่ไข่ตามลงไป แล้วเทข้าวสารกลบไข่จนมิด แต่วิธีนี้จะลำบากเวลาที่ต้องหุงข้าว ต้องรื้อไข่ออกมาแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ ในกรณีที่ไม่มีภาชนะใส่ แต่ใช้กล่องพลาสติกบางๆที่แถมมากับไข่ ควรใส่ลงในกล่องสี่เหลี่ยมอีกชั้น เพื่อกันไข่แตก หรือใส่ไข่แต่ละใบลงในถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง เพื่อเวลาไข่แตกจะได้อยู่แต่ในถุง ไม่เลอะออกมาข้างนอก

ถึงแม้ว่าการขาดโปรตีนจะไม่ดีต่อสุขภาพ แต่การกินโปรตีนมากเกินไปก็มีอันตรายเช่นกัน เพราะทำให้เกิดกรดในร่างกายมากเกินไป (ส่วนย่อยของโปรตีนคือกรดอะมิโน) ร่างกายต้องใช้โซเดียมมาล้างกรดออก ถ้าโซเดียมไม่พอจึงใช้แคลเซียมและแมกนีเซียมมาช่วย ทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุมาก อาการที่สังเกตุได้ว่าร่างกายได้รับโปรตีนมากเกินไปคือ อาการขาดแมกนีเซียม เช่น ปวดเมื่อย ตะคริว นิ้วล็อก มือเท้าชา นอนไม่หลับ ซึ่งจะเป็นมากช่วงตื่นนอน

การวัดว่าร่างกายขาดโปรตีนหรือไม่ คือ ตรวจปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อดูค่า Urine urea nitrogen เพราะไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลักของโปรตีน คนปกติควรจะขับออกมาประมาณ 10-15กรัม ถ้าน้อยกว่า 10 เป็นสัญญาณว่ากินร่างกายต้องการโปรตีนจากอาหารมากขึ้น แต่ถ้ามากกว่า 15 แสดงว่าร่างกายอาจกินโปรตีนเกิน คนปกติที่ไม่ได้ออกแรงมากนัก จะกินโปรตีนจากสัตว์ประมาณวันละ 30-40 กรัม แต่ถ้าต้องใช้แรงมากหรือร่างกายขาดโปรตีนอาจต้องการมากกว่านี้ อาจมากถึง 2 เท่า

อาหาร 100 กรัมโปรตีน (กรัม)
ข้าวขาวดิบ6
เวย์โปรตีน concentrate80
กุ้งแห้งตัวเล็ก46.4
ปลาช่อนทะเลแห้ง41.8
หมูหยอง43.1

คนปกติที่ไม่เป็นเบาหวาน ต้องใช้คาร์โบไฮเดรตต่อโปรตีนในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 เช่น ถ้าใช้โปรตีน 45 กรัม จะใช้คาร์โบไฮเดรต 45*4=180 กรัม  แต่คนที่แข็งแรงและแก่ช้า จะกินโปรตีนมากกว่านี้ คือ กินคาร์โบไฮเดรตต่อโปรตีนในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ถึง 3 ต่อ 1 เช่น ถ้ากินคาร์โบไฮเดรตวันละ 180 กรัม ควรกินโปรตีนระหว่าง 180/4= 45 กรัม ถึง 180/3 = 60 กรัม ต่อวัน ยกเว้นคนที่ออกแรงเกินตัว จนกล้ามเนื้อฉีกขาด จะต้องการโปรตีนสูงขึ้นอีก อย่างเช่นพวกยกน้ำหนัก อาจต้องใช้ คาร์โบไฮเดรตต่อโปรตีนสูงถึง 2 ต่อ 1

อาหาร 100 กรัมคาร์โบไฮเดรต(กรัม)
ข้าวขาวดิบ80
กล้วยตาก80

ถ้าต้องเดินป่าแบกของขึ้นหรือลงเขาทั้งวัน ร่างกายอาจต้องใช้คาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว นั่นคือ จะต้องกินโปรตีนเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยเท่าตัว เช่น จากเดิม 45 กรัม ในวันที่ไม่ได้ออกแรง ก็ต้องเพิ่มเป็นอย่างน้อยวันละ 90 กรัม

อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงคือพวกข้าว ผลไม้ ก่อนออกเดินทางตอนเช้า กินข้าวจะดีที่สุด เพราะข้าวคู่กับของเค็มๆ การกินข้าวมากๆ จะช่วยให้มีแรงเดินได้ทั้งวัน โดยไม่จำเป็นต้องกินข้าวกลางวัน มื้อกลางวันควรเป็นอาหารแห้ง ที่หยิบมาฉีกเดินไปกินไปก็ได้ เช่น ขนมปัง กล้วยตาก จะกินง่ายกว่าการพกข้าวใส่ถุงไป เพราะการกินข้าวนอกจากจะต้องหาที่นั่งแล้วยังเลอะเทอะ ถ้าจะซื้อข้าวไปกินกลางทางควรใส่ถุง อย่าใส่กล่องโฟม เพราะว่ากล่องโฟมเดินไปแล้วมีโอกาสแตกหรือหกเลอะเทอะกลางทาง

ข้าวสารตามธรรมชาติจะแข็งกินไม่ได้ แต่เมื่อเจอกับน้ำและความร้อน ข้าวจะดูดน้ำจนนิ่มฟูกินได้ วิธีหุงข้าวสาร คือ ใช้ข้าว 1 ถ้วย ใส่น้ำ 1.5 ถ้วย ถ้าเป็นข้าวกล้องก็ใช้ข้าว 1 ถ้วย ใส่น้ำ 4 ด้วย ปิดฝาแล้วนำไปวางบนกองไฟ ต้มไปเรื่อยๆ คอยดูอย่าให้น้ำแห้ง เพราะถ้าน้ำแห้ง อุณหภูมิก้นหม้อจะสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส ทำให้ข้าวไหม้ได้ (ถ้ายังมีน้ำอยู่ อุณหภูมิก้นหม้อจะอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียส จึงไม่มีทางที่ข้าวจะไหม้) ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที สังเกตุว่าเม็ดข้าวแตก ลองชิมดูข้าวนิ่มเคี้ยวได้ คือกินได้แล้ว อาจจะเทน้ำที่เหลือทิ้ง หรือ ต้มต่อไปจนน้ำแห้งก็ได้ แต่ต้องใช้ไฟอ่อน มิฉะนั้นข้าวก้นหม้อจะไหม้ ลองเทดูแล้วไม่มีน้ำไหลออกมา  จึงยกออกมาตั้งทิ้งปิดฝาไว้อย่างน้อย 5 นาที เพื่ออบข้าวให้นิ่ม

น้ำหนักของอาหารจริงๆอยู่ที่คาร์โบไฮเดรต ส่วนกับข้าวนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเพราะ กับข้าวบางอย่างมีน้ำหนักเบา เช่น สาหร่าย 1 ห่อสามารถกินได้เป็นอาทิตย์ แต่ข้าวสาร 1 ถ้วยตวงใหญ่มีปริมาตรประมาณ 0.18 ลิตร จะหนักประมาณ 150 กรัมกว่าๆ จะเท่ากับข้าวสุกพูนจาน หรือมาม่า 3 ห่อ คนที่กินจุ จะกินข้าวพูนจานได้ประมาณ วันละ 2-3 จาน ดังนั้น ข้าว 1 กิโลกรัม จะอยู่ได้ 2-3 วัน ปัญหาของข้าวสารคือ
  • หนัก เนื่องจากข้าวสารมีความชื้นปนอยู่ด้วย
  • ยุ่งยาก ต้องซาว ต้องรินน้ำ ต้องรอร่วมครึ่งชั่วโมงกว่าจะได้กิน ต้องล้างข้าวที่ติดหม้อ ฯลฯ ข้าวยี่ห้อที่หุงสุกเร็วเพียง 10 นาที จะช่วยประหยัดเวลาหุงข้าวได้บ้าง
เวลาเดินป่า ต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายจึงต้องการคาร์โบไฮเดรตมาก แต่เวลาอยู่ป่า เรามักจะไม่สามารถกินคาร์โบไฮเดรตได้มากเท่ากับพลังงานที่ใช้ไป วิธีช่วยให้แบกคาร์โบไฮเดรตน้อยลงได้บ้าง คือ ตุนคาร์โบไฮเดรตไว้ในร่างกาย ธรรมชาติของร่างกายคนคือ เวลาที่เรากินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยากก็ตาม ส่วนเกินจากที่ร่างกายนำไปใช้ จะสะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อ ในรูปของไกลโคเจน(glycogen) เพื่อเวลาที่เรากินคาร์โบไฮเดรตไม่พอ ร่างกายจะปล่อยไกลโคเจนออกมาใช้ในรูปของน้ำตาลกลูโคสในเลือด ไกลโคเจนจึงมีน้ำหนักเท่ากับน้ำตาลกลูโคส  แต่การตรวจหาไกลโคเจนที่สะสมในร่างกายทำยาก การควบคุมไกลโคเจน จึงใช้วิธีประมาณ โดยไม่ต้องตรวจ โดยลดคาร์โบไฮเดรตลงวันละเล็กน้อย บวกกับจำกัดอาหารพวกไขมัน ช่วงที่ไกลโคเจนลดลงนี้ น้ำหนักตัวจะลดลงอย่างรวดเร็ว รอให้น้ำหนักตัวลดลงเกิน 2-3 กิโลกรัม จึงจะพอมั่นใจได้ว่าไกลโคเจนที่สะสมไว้หมด พอไกลโคเจนหมดแล้ว น้ำหนักตัวจะเริ่มคงที่ เพราะร่างกายจะนำไขมันมาเผาผลาญต่อทำให้น้ำหนักตัวลดลงช้ามาก โดยมีข้อควรระวังในการวัดน้ำหนัก คือ ดื่มน้ำให้เพียงพอ มิฉะนั้นน้ำหนักตัวที่ลดลงไป อาจเป็นน้ำหนักน้ำก็ได้ หลังจากใช้ไกลโคเจนหมดแล้ว จึงเริ่มกินคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้น ร่างกายแต่ละคนสะสมไกลโคเจนได้แตกต่างกัน จึงต้องทดลองด้วยตนเอง คนที่มีกล้ามเนื้อมาก ร่างกายจะสะสมไกลโคเจนได้มาก ช่วงที่สะสมไกลโคเจน น้ำหนักตัวจะขึ้นเร็ว เพราะ การสะสมไกลโคเจนจะสะสมน้ำอีก 3 เท่าของน้ำหนักของมัน เช่น ถ้าสะสมไกลโคเจนไว้ 1 กิโลกรัม ร่างกายจะสะสมน้ำอีก 3 กิโลกรัม ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 4 กิโลกรัม เมื่อไกลโคเจนสะสมเต็มแล้ว คาร์โบไฮเดรตส่วนเกินที่กินเข้าไป จะสะสมในรูปของ triglyceride ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่ง การเก็บไกลโคเจน จึงไม่ควรเก็บจนเต็มขอบเขตที่ร่างกายสะสมได้ ควรเผื่อไว้สำหรับอาหารมื้อต่อไป เพราะทุกมื้อที่เรากินเข้าไป คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่จะเข้าไปในเซลเพ่อใช้เป็นพลังงาน ส่วนเกินจะไปสะสมเป็นไกลโคเจนไว้ใช้ในช่วงเวลาต่อไปของวัน

คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ต้องหุง คือ ข้่าวผง หรือ ธัญพืช(cereal)ผงที่ขายเป็นซองๆ ใส่น้ำ หรือ เทใส่ปาก กินได้เลย นอกจากจะเบา เล็กกะทัดรัด แล้วยังราคาไม่แพง มีหลายขนาด หลายรสชาด ทั้งหวาน เค็ม จืด หาซื้อได้ตามร้านค้าของโครงการหลวง โอทอป และ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้าต้องการสารอาหารเพิ่ม อาจซื้อ ผักผง เห็ดผง ฯลฯ ธัญพืชแบบซองขนาด 30-100 กรัม มีข้อดีตรงทีสามารถกินหมดได้ในมื้อเดียว และสามารถเลือกกินหลายๆแบบได้ แต่มีข้อเสียคือย่อยง่ายและหิวง่าย จึงเหมาะจะใช้เฉพาะเวลาฉุกเฉิน

แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ดี นอกเหนือจากข้าวสาร ได้แก่ กล้วยตาก เป็นอาหารแห้งที่ดีมาก เพราะมีน้ำหนักเบา และเป็นแหล่งของแร่ธาตุพวกโพแทสเซียมและแมกนีเซ๊ยม ซึ่งหาได้ยากในข้าวขาว กล้วยตากมีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 80% ของน้ำหนัก พอๆกับข้าวสาร ในขณะที่กล้วยแบบ freeze-dried มีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 90% ซึ่งหมายถึง เมื่อแบกกล้วยตาก 1 กิโลกรัม จะได้คาร์โบไฮเดรต 800 กรัม แต่ถ้าแบกกล้วยแบบ freeze-dried 1 กิโลกรัม จะได้คาร์โบไฮเดรต 900 กรัม ซึ่งต่างกันเพียง 100 กรัม ซึ่งถือว่าไม่มากนัก กล้วยตากจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา สามารถแกะกินได้เลย ข้อควรระวังในการกินกล้วยคือ ควรจะกินอาหารเค็มๆเพิ่มเพื่อให้ร่างกายได้รับโซเดียมเพียงพอเช่นเดียวกับการกินข้าวมื้อหนึ่ง

เวลาหิวๆ น้ำตาลทรายไม่สามารถช่วยแก้หิวขณะเดินป่าได้มากนัก เพราะมันมีกลูโคสและฟรุกโตสอย่างละครึ่ง ถึงแม้ว่ากลูโคสเป็นน้ำตาลที่ร่างกายนำไปใช้ได้เลย แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำตาลที่กินเข้าไปแล้วถือว่ามีน้อย ส่วนฟรุกโตสต้องใช้เวลาแปลงเป็นกลูโคสที่ตับทีละน้อย อย่างเร็ว 2-3 ชั่วโมงกว่าจะแปลงได้สักครึ่งหนึ่งของที่กินเข้าไป น้ำตาลที่จะช่วยแก้หิวได้เร็วที่สุด คือ น้ำตาลกลูโคส แต่การกินน้ำตาลกลูโคสจะทำให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้น แล้วอินซูลินจะไปลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ทำให้หมดแรง น้ำตาลกลูโคสในปริมาณน้อยๆ อย่างที่อยู่ในซองเกลือแร่ จะเหมาะสำหรับกินช่วงหยุดเดินแล้ว แต่ถ้ายังต้องเดินต่อ ข้าวขาวจะดีที่สุด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เมื่อกินเปล่าๆ จะมีดัชนีน้ำตาล (glycemic index หรือ GI) ค่อนข้างสูงถึงประมาณ 60-80 (เทียบกับกลูโคสคือ 100) จะช่วยให้อิ่มได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่เร็วเท่ากับกลูโคส ข้าวขาวจึงเหมาะที่จะหุงตอนเช้า เพื่อเก็บไว้กินกลางทาง รวมทั้งกินตอนเย็น ทันทีที่หยุดเดิน จะแก้หิวได้เร็วที่สุด และได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น ช่วยลดการสูญเสียกล้ามเนื้อจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าต้องการให้ข้าวขาวดูดซึมช้าลง แค่ใส่กับข้าวเข้าไปด้วย ค่า GI จะลดลง 20-40% ถ้าจะให้ดูดซึมช้าลงไปอีก ควรเปลี่ยนมาใช้ข้าวกล้องจะดีต่อสุขภาพมากที่สุด

มะนาว นอกจากจะเพิ่มรสชาดให้อาหารแล้ว ยังช่วยปรับสมดุลกรดด่างในเลือดด้วย วงการแพทย์ทราบกันดีว่า ร่างกายจะแปลงกรดซิตริกเป็นไบคาร์บอเนต ซึ่งเป็นด่างที่ช่วยลดกรดในเลือด ผมเจอผู้ป่วยหลายคนที่ไม่กินเปรี้ยว ไม่กินมะนาวเลย มีอาการวูบ ปวดหัว คลื่นใส้  ตรวจเลือดพบเลือดเป็นกรด ค่า anion gap สูงกว่าค่าอ้างอิง ด้วยเหตุนี้เราจึงควรกินมะนาวทุกวัน แต่ปัญหาของการแบกมะนาว คือ มีน้ำหนักมาก โชคดีที่ปัจจุบันมีมะนาวผงขาย ซึ่งได้แก่น้ำมะนาวที่ระเหยน้ำออก หรือถ้าหาไม่ได้จริงๆ สามารถใช้กรดซิตริกแบบผงแทนได้ (จะเป็นแบบ hydrous หรือ anhydrous ก็ได้ แต่แบบ anhydrous ไม่มีน้ำอยู่เลย หากพกในปริมาณมาก จะเบากว่าแบบ hydrous เล็กน้อย)

การเดินป่ามักจะต้องเสียเหงื่อมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุต่างๆไปกับเหงื่อ แร่ธาตุหลักที่สูญเสียมากคือ โซเดียม (สังเกตุว่าเหงื่อจะมีรสเค็ม) และ โพแทสเซียม และแร่ธาตุอื่นๆอย่างละเล็กละน้อยจนนับได้ว่าไม่สำคัญ เช่น ไอโอดีน, แคลเซียม, แมกนีเซียม, สังกะสี, ทองแดง, โครเมียม ฯลฯ ร่างกายสามารถสะสมแร่ธาตุ และปล่อยออกมาใช้ เวลาที่ขาดแคลน อย่างเช่น สะสมโซเดียมไว้ที่กระดูกประมาณ 40% เวลาเสียโซเดียมไปกับเหงื่อ ร่างกายก็จะดึงโซเดียมจากกระดูกมาใช้เพื่อปรับระดับโซเดียมในเลือดให้ ปกติตลอดทั้งวัน

แร่ธาตุที่สำคัญที่สุดคือ โซเดียม สำคัญกว่าโปรตีนเสียอีก เพราะ ถ้าระดับโซเดียมในเลือดต่ำ จะทำให้หมดแรงและถึงตายได้ ต่างจากโปรตีน ซึ่งสามารถสลายกล้ามเนื้อมาใช้ได้ คนปกติร่างกายมักจะได้รับโซเดียม ได้ง่ายอยู่แล้วจากการกินเกลือหรือน้ำปลา การกินเค็มๆให้สม่ำเสมอตลอดทั้งวัน จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดโซเดียม การกินเค็มๆในช่วงเย็น หลังจากที่เสียเหงื่อมาตลอดทั้งวัน จะช่วยฟื้นฟูร่างกาย ด้วยการเพิ่มปริมาณโซเดียมในร่างกาย และการกินเค็มก่อนนอน จะช่วยไม่ให้ตื่นมาฉี่กลางดึก เพราะโซเดียมจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน ADH ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายขับน้ำออก แหล่งความเค็มที่ดีที่สุดคือน้ำปลา เพราะนอกจากจะมีรสชาดดีแล้ว น้ำปลายังทำจากเกลือเม็ด ซึ่งมีแร่ธาตุจากทะเลครบถ้วนเกือบร้อยตัว แถมยังมีแร่ธาตุจากปลาเพิ่มเข้ามาอีก แต่การพกน้ำปลานอกจากจะหนักแล้ว ยังหกเลอะเทอะได้ง่าย ผงน้ำปลาจะพกง่าย แต่หาซื้อยาก แหล่งความเค็มที่พกสะดวกที่สุด และยังคงมีประโยชน์ต่อร่างกายคือ เกลือที่ขายตามนาเกลือ จะเป็นดอกเกลือหรือเกลือเม็ดสีเทาก็ได้ ทั้งคู่มีปริมาณแร่ธาตุจากทะเลไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เกลือเม็ดจะหยิบกินง่ายกว่า และมีรสชาดดีกว่าดอกเกลือ เพราะเกลือเม็ดไม่เค็มเกินไป ซื้อมาถุงหนึ่งใส่กระปุกเก็บไว้ได้ไม่มีวันหมดอายุ ถ้าเหลือก็เอาไปโรยโป่งสัตว์ได้อีก ส่วนเกลือที่ไม่ควรใช้เลยคือ เกลือผงที่ผ่านการแปรรูปแล้ว แร่ธาตุต่างๆจากทะเลจะถูกกำจัดออกหมด เหลือเพียงโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งแร่ธาตุโดดๆนี้เองที่เป็นผลเสียกับร่างกาย

แร่ธาตุที่สำคัญรองลงมาคือ แมกนีเซียม แต่คนทั่วไปไม่มีรู้จักมัน เพราะตรวจเลือดด้วยวิธีปกติไม่เจอ จนกว่าจะเริ่มแย่แล้วจึงจะแสดงออกทางผลเลือด แมกนีเซียม เป็นตัวควบคุมแร่ธาตุตัวอื่นในร่างกาย และเป็นแหล่งพลังงาน นักเรียนแพทย์จะรู้ว่า ร่างกายสร้างพลังงาน ในรูปของโมเลกุลที่เรียกว่า ATP ซึ่งจับกับแมกนีเซียม ถ้าไม่มีแมกนีเซียมก็จะไม่มีพลังงาน สาเหตุสำคัญที่เราเดินป่าแล้วไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ก็เพราะขาดแมกนีเซียม ซึ่งจากที่ผมเคยใช้วิตามินและแร่ธาตุรักษาโรคมา ก็มีแมกนีเซียมนี้เอง ที่ทำให้คนมีแรงมากขึ้นจนเห็นได้ชัด การเดินป่าในที่ร้อนชื้น จะเสียเหงื่อมาก ร่างกายจะสูญเสียแมกนีเซียมมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ความเครียดทางร่างกาย จากการเดินป่าอย่างหนัก ก็ทำให้ร่างกายสูญเสียแมกนีเซียมมากขึ้น เคยมีการทดลองในทหารหน่วยซีลและนักวิ่งมาราธอนพบว่า หลังจากการฝึกหนักเพียง 1 เดือน พวกเขาจะเริ่มมีอาการขาดแมกนีเซ๊ยม และถ้าไม่กินแมกนีเซียมเสริม อาการจะยังคงอยู่อีก 3-6 เดือน ถ้าหลังจากเดินป่าแล้ววันรุ่งขึ้นปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหัวใจ ก็แสดงว่าร่างกายขาดแมกนีเซียม เพราะแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ที่ขับกรดแลคติก ซึ่งกรดแลคติกนี้เองที่เป็นตัวทำให้ปวดนั่นปวดนี่ แมกนีเซียมจะสะสมในร่างกายตามกล้ามเนื้อและกระดูก คนที่ขาดแมกนีเซียม จะมีอาการที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ และระบบประสาทไวเกินไป เช่น ปวดหลัง เป็นตะคริว มือสั่น ใจหวิว กระตุก เครียดง่าย หดหู่ วิตกกังวล ปวดไมเกรน หลับได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ตื่น พอตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้ เจอแสงจ้าแล้วปวดหัว พอเหนื่อยๆแล้วเจ็บหน้าอก ท้องผูก อาการเหล่านี้เป็นเมื่อเกิดร่วมกันอย่างน้อย 2-3 อาการ ก็ชัดเจนว่าขาดแมกนีเซียม บางคนอาจมีแค่อาการเดียวอย่างเช่น ปวดหลัง บางคนไม่มีอาการเลยก็มี คนอ้วนก็น่าสงสัยว่าขาดแมกนีเซียม ทำให้แคลเซียมไปล้อมเซล ทำให้น้ำตาลเข้าไปในเซลไม่ได้ ทำให้การเผาผลาญอาหารต่ำ จึงอ้วนง่าย พอขาดแมกนีเซียมไปนานๆ ก็จะเป็นความดัน ไขมันสูง โคเลสเตอรอลสูง และ โรคหัวใจ เป็นตรงไหนก็แสดงว่าแคลเซียมเข้าไปสะสมตรงนั้น แต่เป็นการสะสมในระดับเซล จึงตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ไม่พบ คนที่ขาดแมกนีเซียมได้ง่าย คือ พวกที่เครียด หรือดื่มเหล้าบ่อยๆ ร่างกายจะขับแมกนีเซียมออกมาทางปัสสาวะ คนที่อายุมากขึ้น ปริมาณแมกนีเซียมที่สะสมในร่างกายจะลดลงเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า คนแก่ออกอาการทุกคนก็ได้ ถึงแม้ว่าตรวจเลือดแล้วพบว่าระดับแมกนีเซียมในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ ตาม แต่ระดับแมกนีเซียมที่สะสมในอวัยวะต่างๆเหลือน้อย การดื่มนมมากเกินไปและนานเกินไป ก็ทำให้เป็นโรคขาดแมกนีเซียมได้เช่นกัน เพราะนมมีแคลเซียมสูง แคลเซียมจะไปขับแมกนีเซียมออก ผู้หญิงวัยประจำเดือนจะขาดแมกนีเซียมมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการสร้างฮอร์โมนในแต่ละรอบเดือน วิธีตรวจหาว่าขาดแมกนีเซียม คือ ตรวจระดับแมกนีเซียมในเลือด ถ้าตรวจดู serum magnesium ต่ำกว่า 1.8 mg/dl ก็ชัด แต่จากที่ผมเจอมา ถ้าต่ำกว่า 2.0 ก็เริ่มจะชัด สามารถยืนยันได้ด้วยการตรวจแมกนีเซียมไออน(ionized magnesium) ซึ่งสัมพันธ์กับระดับแมกนีเซียมที่สะสมในร่างกาย ปัจจุบันเมืองไทยมีตรวจอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆไม่กี่แห่ง เช่น รพ.รามา รพ.กรุงเทพ วิธีแก้โรคขาดแมกนีเซียมง่ายๆคือ กินผักผลไม้ทุกวัน โดยอย่ากินผสมกับนมหรือเนื้อสัตว์ เพราะแมกนีเซียมจะไปจับกับฟอสฟอรัส ทำให้ดูดซึมไม่ได้

 ผลไม้ที่ปลอดภัยกินได้ทุกวันคือ กล้วย วิธีพกผลไม้เข้าป่าคือ ใช้ผลไม้แห้ง พวก freeze-dried ซึ่งดูดน้ำออกหมดแล้ว ทำให้มีน้ำหนักเบา  และยังคงสารอาหารไว้ครบถ้วน หรือ พวกตากแห้ง  เช่น กล้วยตาก หรือ ผลไม้กวน เช่น สัปปะรดกวน ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือกินแมกนีเซียมเสริม ซึ่งต้องกินตอนท้องว่างเช่นกัน ผมเคยแนะนำให้ผู้ป่วยรายหนึ่งกินกล้วย ปรากฎว่าเขากินกล้วยน้ำว้าถึงวันละหวี เรียกว่ากินแทนข้าวเลย กินผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง อาการปวดเมื่อยเริ่มทุเลาลง เริ่มนอนหลับสบายขึ้น

คนที่ไปเดินป่านานๆครั้ง ผลไม้แบบ freeze-dried จะเหมาะสมสำหรับซื้อกักตุนไว้ เพราะ เก็บได้นาน และถ้าใกล้หมดอายุก็สามารถนำมากินได้ แต่ข้อเสียของผลไม้ freeze-dried คือราคาแพง

เราอาจจะได้ยินโฆษณาบ่อยๆว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทำให้กระดูกแข็ง เวลาหกล้มกระแทก จะไม่มีปัญหาเรื่องกระดูกหักง่ายเกินไป แต่การกินแคลเซียมระหว่างเดินป่า มีอันตราย เพราะ เวลาที่ร่างกายใช้พลังงานมาก จะต้องการแมกนีเซียมสูง แต่แคลเซียมเป็นศัตรูกับแมกนีเซียม เคยมีนักกีฬาที่กินแคลเซียมก่อนฝึกซ้อม ปรากฎว่า บางคนเป็นตะคริว คนไหนที่ซ้อมหนักๆถึงกับชัก ซึ่งอธิบายได้ว่า แคลเซียมไม่ได้อยู่ในกระดูกอย่างเดียว แต่สามารถเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อได้ด้วย เมื่อกินแคลเซียมมากเกินไปแมกนีเซียมก็จะต่ำ แล้วแคลเซียมก็จะไหลเข้าไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ แคลเซียมอยู่ในอวัยวะใดมากเกินไป จะทำให้อวัยวะนั้นหดตัวแล้วไม่ยอมคลายตัว เพราะแคลเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัว ในขณะที่แมกนีเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนเป็นตะคริวหรือชัก ที่จริงแล้วร่างกายเรา ดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ได้เวลาที่ขาดแคลน และร่างกายมีระบบป้องกันการสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะอยู่แล้ว แต่คนที่ขาดวิตามินดี ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้ไม่ดี และจะสูญเสียแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากกว่าปกติ  ด้วยเหตุนี้ วิธีที่ถูกต้องในการเสริมแคลเซียมคือ ได้รับวิตามินดีให้เพียงพอจากการตากแดดตอนเที่ยงๆ (แสงแดดตอนเช้าและเย็น ไม่มีวิตามินดี) ถ้าต้องการเสริมแคลเซียม จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการตรวจปัสสวะเพื่อดูแคลเซียมส่วนเกิน แล้วทำล่วงหน้าวันละเล็กน้อย อาจจะกินนมไม่เกินวันละกล่อง หรือปลาตัวเล็กๆกินพร้อมกระดูก พวกปลาป่นหรือปลากรอบ อาหารเหล่านี้มีแคลเซียมเพียงพอแล้ว ที่จะสะสมในร่างกายจนเต็ม ไม่จำเป็นต้องการแคลเซียมแบบเม็ดเสริม โดยมีข้อควรระวังคือ กินอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงควบคู่ไปกับแคลเซียม เพราะแมกนีเซียมเป็นตัวป้องกัน ไม่ให้แคลเซียมเข้าไปในเซล คนที่ขาดแมกนีเซียมแล้วกินแคลเซียมอย่างเดียว จะมีอันตรายมากขึ้น เพราะแคลเซียมที่มากเกินไป จะเข้าไปทำลายเซล ทำให้เกิดอาการป่วยแบบเดียวกับขาดแมกนีเซียม แต่จะชัดเจนกว่า และมีอาการอื่นมากกว่า เช่น เป็นตะคริว ท้องผูก ตื่นมาฉี่กลางดึก กลางวันก็ฉี่บ่อย หิวน้ำบ่อย ปากแห้ง ปากแตก เวลาเดินป่าจะเหนื่อยง่าย ถ้าเริ่มเป็นหนักก็จะปวดคอ ปวดหลัง ปวดท้อง กินอะไรก็อาเจียน พอหยุดกินแคลเซียมแล้วกินแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น อาการเหล่านี้ก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน

คนที่เหนื่อยง่ายโดยไม่มีอาการขาดแมกนีเซียม อาจจะเกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ แร่ธาตุ 2 ตัวคือ ไอโอดีน และ ซิลิเนียม เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์  คนที่ขาดแร่ธาตุเหล่านี้ไปนานๆ จะทำให้ฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์ต่ำ (ถ้าขาดไอโอดีนจะมี Free T4 ต่ำ แต่ถ้าขาดซิลิเนียม จะมี Free T3 ต่ำ) ทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารต่ำ ทำให้เหนื่อยง่าย หิวบ่อย หนาวง่าย ร้อนง่าย เวลาร้อนแล้วเหงื่อออกมาก คนที่เป็นไทรอยด์ทั้งสูงและต่ำจะขาดไอโอดีนทุกคน แต่ไทรอยด์บางประเภทขาดซิลิเนียมร่วมด้วย ถึงแม้ว่าร่างกายจะสะสมไอโอดีนได้ และ ฮอร์โมนที่ผลิตต่อมไทรอยด์สามารถสะสมไว้ใช้ได้นานเกือบ 1 สัปดาห์ แต่เราก็ควรจะมั่นใจได้ได้รับไอโอดีนจากอาหารอย่างเดียวพอตลอดเวลา เพราะ เวลาเสียเหงื่อ ร่างกายจะเสียไอโอดีนมากกว่าเวลาอยู่เฉยๆ ไอโอดีนจะมีอยู่ในอาหารทะเล และ อาหารที่มาจากผืนดินใกล้ทะเล เพราะ ไอน้ำที่ระเหยขึ้นมาจากทะเลจะมีแร่ธาตุปะปนมาด้วย แล้วไอน้ำเหล่านั้นก็จะถูกลมทะเลและฝนพามาตกลงบนผืนดิน สังเกตุง่ายๆว่าเวลายืนอยู่ริมทะเล จะตัวเหนียว คนที่อยู่ไกลทะเล จึงมักจะเป็นโรคตามอวัยวะที่สะสมไอโอดีน เช่น คอพอก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ (โรคขาดไอโอดีนอาจเกิดจากสาเหตุอื่นด้วย เช่น ติดเชื้อเรื้อรัง หรือ มีโลหะหนักสะสม) ปริมาณไอโอดีนที่แนะนำต่อวันคือ อย่างน้อยวันละ 150-200 ไมโครกรัม เทียบได้กับ สาหร่ายแผ่นโนริ 4 กรัม นั้นเพียงพอแค่ต่อมไทรอยด์ แต่ไม่พอสำหรับอวัยวะอื่นในร่างกาย และอาจไม่เพียงพอสำหรับต่อมไทรอยด์ ถ้ากินพืชที่มีสารยังยั้งการดูดซึมไอโอดีน เช่น ถั่วเหลือง ฯลฯ อาหารที่มีไอโอดีนและซิลิเนียมสูง คือ พวกอาหารทะเล สาหร่ายทะเล พกเข้าป่าดีมาก เพราะว่ามีน้ำหนักเบา แถมยังมีแมกนีเซียมสูง ส่วนเกลือทะเลไม่ใช่แหล่งไอโอดีน เพราะเกลือทะเลตามธรรมชาติ มีไอโอดีนน้อยมาก จนเรียกได้ว่าไม่มี รัฐบาลจึงต้องบังคับให้เติมไอโอดีนลงในเกลือทะเล กลายเป็นเกลือเสริมไอโอดีน แต่คนที่ออกกฎเรื่องนี้จริงๆคือแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขไทย ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไอโอดีน จึงไม่รู้ว่าการใส่ไอโอดีนลงในเกลือ ไม่ได้ช่วย เพราะ ไอโอดีนที่เติมลงไป ถ้าเปิดฝาไว้ จะระเหยไปหมด ถึงแม้จะไม่ระเหย แต่ก็ยังไม่ได้ช่วย เพราะร่างกายดูดซึมไอโอดีนจากในเกลือไปใช้ได้เพียง 10% เท่านั้น ในเกลือเม็ด ซึ่งได้มาจากนาเกลือ จะมีไอโอดีนรวมทั้งแร่ธาตุอื่นๆปนอยู่ด้วย เช่น แมกนีเซียม แต่พอกลายเป็นเกลือป่นแล้ว แร่ธาตุพวกนี้จะหายไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะกินเกลือ เกลือเม็ดที่เรียกว่าดอกเกลือจะปลอดภัยกว่า แต่แหล่งไอโอดีนที่ดีในเวลาปกติ คือพวกอาหารทะเล และน้ำปลา

วิธีเตรียมอาหารเข้าป่าที่สะดวกสุดคือ แบ่งใส่ถุงเล็กๆ ถุงหนึ่งพอกินมื้อหนึ่ง ยกเว้นข้าวสาร ไม่ต้องแบ่ง แต่ควรพกถ้วยตวงไปด้วย เพราะจำเป็นต้องใช้ถ้วยตวง เพื่อตวงน้ำที่ใช้หุงข้าว (ถ้วยตวงนี้อาจจะครอบไว้บนกระติกน้ำ เพื่อระหว่างทางจะใช้ตักน้ำใส่กระติก) โดยเฉพาะอาหารประเภทผง ถ้าพกไปทั้งถุง เวลากินจะตักแบ่งลำบาก ควรแบ่งใส่ถุงพลาสติกถุงเล็กๆ ถุงหนึ่งแค่พอกินครั้งหนึ่ง ใช้ถุงพลาสติกใสเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงอลูมิเนียมฟอยล์เพราะหนัก อลูมิเนียมฟอยล์เหมาะสำหรับใส่พวกวิตามินที่โดนแสงไม่ได้ เมื่อแยกใส่ถุงเล็กแล้ว อาจมักปากถุงด้วยหนังยางรัดของ หรือ ถ้ามีเครื่องรีดปากถุงพลาสติกด้วยความร้อนจะสะดวกขึ้น แต่รีดเสร็จแล้ว จะมีอากาศเหลือในถุง จะทำให้ถุงแตกเวลากดทับ แก้ไขโดยใช้เข็มเจาะต่ำกว่ารอยปิดปากถุงเล็กน้อย แล้วใช้มือรีดอากาศออกจากถุงอีกรอบ แล้วจึงใช้เครื่องรีดปิดปากถุงอีกรอบ ในแนวต่ำกว่ารูที่เจาะ พวกขนมขบเคี้ยวก็มักจะอัดไนโตรเจนมาจนโป่งก็เช่นกัน ถ้าพกไปแบบโป่งๆจะเปลืองเนื้อที่ในเป้มาก แก้ไขโดยใช้เข็มเจาะตรงปลายด้านหนึ่ง รีดอากาศออกจนแฟบ แล้วใช้เครื่องรีดปากถุงพลาสติก ปิดปากถุงไม่ให้อากาศเข้าออกอีก

อาหารที่ไม่ควรพกเข้าป่าเป็นเวลานานๆคือ อาหารที่ขึ้นราได้ เช่น ฝอยทอง ส่วนอาหารที่ไม่ขึ้นรา คือ อาหารที่ปิดผนึกสำเร็จรูปมาจากโรงงาน มีบอกวันหมดอายุชัดเจน

ถึงแม้ว่าจะไปกับกลุ่มก็ควรพกอาหารส่วนตัวติดไปด้วย เพราะเราอาจหลงป่า, หิวกลางทาง, ต้องรอกลุ่มทำกับข้าวเสร็จ หรือ กับข้าวไม่ถูกปาก เพราะในป่าจะหากับข้าวเหมือนในเมืองไม่ได้ ถ้าส่วนรวมพกอะไรมา หรือใครทำกับข้าวอะไร ก็ต้องทนกิน บางคนกินอาหารโดยไม่ห่วงสุขภาพมากนัก แค่มีข้าวสารกับกุนเชียง เขาก็อยู่ได้แล้ว โดยที่เขาไม่รู้ว่า เขาจะเป็นโรคที่เกิดจากขาดสารอาหารตามมา เช่น มะเร็ง เบาหวาน ผมร่วง

ปัญหาของการพกอาหารเข้าป่าคือ ประมาณไม่ถูกว่า ตัวเองกินอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากทริปสั้นๆ 1-3 วัน ใกล้ๆบ้าน เพื่อเวลาไปทริปไกลๆ ใช้เวลานานๆ จะได้ไม่ต้องลำบากแบกอาหารไปเกินความจำเป็น การเดินป่าช่วงสั้นๆ ยังช่วยให้เรารู้พละกำลังของตัวเองอีกด้วย เพราะถ้าเดินแค่วันหรือสองวัน แล้วรู้สึกเหนื่อยมาก แสดงว่าร่างกายผิดปกติ อาจเป็นโรคขาดแมกนีเซียม แต่ถ้ายังมีพละกำลังเหลือเฟือ แสดงว่าเดินทางไกลกว่านี้ได้

อาหารควรเก็บไว้ให้มิดชิด อย่าให้มีกลิ่น กลิ่นอาหารจะดึงดูดสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่หนูจนถึงช้าง หนูจมูกไวมาก แม้แต่อาหารแห้งที่อยู่ในถุงปิดเคลือบจนไม่มีกลิ่นออกมา มันยังหาเจอ หนูจะแทะเป้สะพายหลังราคาแพงของเรา จนเป็นรูเพื่อมุดเข้าไปกินอาหาร บางทีไม่มีอาหารมันก็ยังกัด ดังนั้น ควรโปรยอาหารเลี้ยงหนูไว้ด้วย แต่ปัญหาใหญ่คือ ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่จมูกไวที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด จมูกดีกว่าหนูและหมา คณะของผมเคยเจอช้างบุกที่พักในป่ากลางดึกมาแล้ว 2 ครั้ง โดยไม่ได้ทำอันตรายคน แต่ทำลายแหล่งอาหารจนพังหมด รื้อเป้สะพายหลังซึ่งทำจากผ้าไนล่อนหนาๆ จนขาดเป็นชิ้นๆ เพื่อจะกินอาหารข้างใน ช้างจะกินอาหารแห้งไปทั้งถุง โดยเฉพาะพวกถุงใส่ไมโลโอวัลตินและมาม่า มันชอบมาก ยกเว้นข้าวสารบ้วนทิ้งหมด ทำให้คืนนั้นพวกเราไม่ได้นอนกันเลยทั้งคืน เพราะต้องหนีออกมาที่พักจนถึงรุ่งเช้า รอให้ช้างไปแล้ว จึงกลับมาเย็บเป้สะพายหลัง จึงเดินทางออกมาได้


เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์

อ่านต่อบทความคู่มือเดินป่า...ตอนที่ 8>>>>>>>>

คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5
.
คู่มือเดินป่าตอนที่5...https://goo.gl/5ACh2f
.
คู่มือเดินป่าตอนที่6...https://goo.gl/vx1qtc

ดูสินค้าของเรา....คลิก

คุณสามารถติดตามพูดคุยกับเราได้ที่>>>  เพจ"เอาตัวรอดในป่า"


By :อยู่อย่างเสือ 

2 ความคิดเห็น:

  1. ข้าวสารต้องนับมื้อให้พอสำหรับอยู่ในป่า หนึ่งคนใช้ข้าวสารประมาณหนึ่งแก้วพลาสติค ต่อหนึ่งมื้อ แล้วเผื่อไว้อีกสองวันกันหลงป่า หม้อหุงข้าวที่ดีที่สุดคือหม้อทหารวิธีหุงข้าวคือใส่ข้าวสารให้เส็มฝาแล้วใส่หม้อใส่น้ำถึงขีดรอยหยักในหม้อแล้วเอาไปแขวนกับคานไม้แล้วเผาหม้อจนเดือดพอเดือดแล้วเขี่ยไฟออก น้ำจะเดือดปุดๆ พอน้ำหยุดเดือดคือข้าวสุกแล้ว เอาออกมาวางรอข้าวระอู หม้อนึงกินได้สี่คน เวลากินจะฟินสุดๆตรงได้กลิ่นฟืน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบพระคุณมากครับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม .....

      ลบ