โพสต์แนะนำ

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 "เตรียมตัวก่อนเข้าป่า"

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 ทำไมต้องเดินป่า การเดินในป่า เป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ...

เทคนิคเดินป่า...การใช้ฟลายชีท fly sheet

การใช้ฟลายชีท fly sheet




ฟลายชีท

ฟลายชีทเป็นด่านกั้นระหว่างความเปียกกับความแห้ง ช่วยไม่ให้เครื่องนอนเปียก เครื่องนอนพวกถุงนอนและชุดนอน ถ้าเปียกแล้วแห้งยาก เราจึงไม่ต้องกลัวฟลายชีทเปียก เพราะมันเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้เปียกอยู่แล้ว ถ้าเปียกก็แห้งเร็ว แค่นำไปตากลมหรือไอแดดเพียงครู่เดียว ถ้ายังไม่มีเวลาตากก็ยัดใส่ถุงตาข่ายข้างเป้ไว้ก่อน เพื่อเวลาเดินไปจะได้แห้งง่าย แล้วค่อยหาเวลาตากตอนหยุดพักกินข้าวกลางวัน ของที่เปียกไม่ควรใส่ถุงพลาสติกแล้วอบไว้ ถึงแม้ว่าไม่เปื้อนเหงื่อก็เหม็นได้ เพราะ เชื้อโรคทุกชนิดทั้งแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อรา จะเติบโตได้ดีในสถานที่เปียกและมืด และอากาศไม่เย็นเกินไป 

เวลาเดินป่า เสื้อผ้ามักจะเปียกอยู่ตลอดเวลา เนื่องจาก เหงื่อ ฝนตก หรือลุยน้ำ ไม่ว่าจะลุยสักเพียงใดก็ตาม ตอนนอนจำเป็นต้องตัวแห้ง มิฉะนั้น แผลที่ผิวหนังจากการลื่นกระแทกหิน ถูกหนามตำ ฯลฯ จะลุกลาม แผลเปื่อยนานๆ จะกลายเป็นแผลเปิด ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในร่างกายได้ง่าย มีโอกาสเจ็บป่วยสูง ถ้ามีแมลงมาตอม แมลงอาจวางไข่ แล้วต่อมาแผลจะมีหนอนไช แต่ถ้าได้นอนในที่แห้งๆตลอดคืน แผลจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถเดินทางต่อไปได้สบาย เพราะเชื้อโรคจะเจริญเติบโตในบริเวณที่แห้งได้ไม่ดีเหมือนบริเวณที่ เปียก เปรียบเมือนเนื้อสัตว์หรือผลไม้ ที่นำไปตากแห้งหรือย่างไฟให้แห้ง จะเก็บไว้ได้นานขึ้น

fly sheet คือสิ่งสำคัญ เพียงสิ่งเดียว ที่ใช้กันฝน ถ้าไม่กางฟลายชีท หรือ ฟลายชีทกันฝนไม่ได้เต็มที่ เกิดฝนตกขึ้นมา ตอนกลางคืน ที่นอนจะเปียก พอเปียกแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด เพราะ ฝนตกบวกกับมืด จึงแก้ไขอะไรยาก กลางดึกซึ่งเป็นช่วงเวลานอน จะทำอะไรก็มองเห็นไม่ชัด แถมยังฝนตกอีกต่างหาก ถ้าจะทำก็ต้องตากฝนออกไปทำ คนที่ที่นอนเปียก จึงมักจะทนนอนทั้งที่เปียกๆ ทำให้นอนน้อยและนอนหลับไม่สบาย พอตอนเช้า ต้องเดินทางต่อ จะต้องแบกเสื้อผ้าและเครื่องนอนที่เปียก ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น พอคืนต่อมา นอกจากจะต้องทนนอนกับที่นอนเปียกแล้ว ของที่อบมาทั้งวัน ยังเหม็นอีกด้วย


เมื่อถึงที่พัก ควรกางฟลายชีททุกครั้ง เนื่องจาก ในป่าฝนตกไม่แน่นอน ตอนหัวค่ำ มองเห็นดาว กลางดึกอาจฝนตก เพราะลมบนสามารถพัดพาเมฆฝนมาได้  แม้แต่ ช่วงหน้าแล้ง อย่างตอนปีใหม่ ถ้าช่วงนั้นความกดอากาศเปลี่ยน ก็อาจมีฝนตกได้ ถึงแม้ในเมืองฝนไม่ตก แต่ในป่ามักจะมีฝนตกบ่อยกว่าในเมือง ถึงแม้ว่าฝนไม่ตก แต่ถ้าเป็นช่วงหลังฝนตกใหม่ๆ ก็จะมีน้ำค้างอยู่ตามใบไม้ เมื่อโดนลมจะหยดลงมาใส่ พอแดดออกก็ต้องโดนแดด ที่ทะลุลงมาตามใบไม้ส่องใส่หน้า ฟลายชีทจึงควรจะทึบแสง ถึงแม้จะมั่นใจว่าฝนไม่ตก แต่ก็ยังอาจมีเศษกิ่งไม้ใบไม้ และละอองเกสรต่างๆหล่นลงมาใส่เปล การกางฟลายชีทจึงช่วยป้องกันได้ดีกว่า จะไม่กางฟลายชีทได้ ก็ต่อเมื่อ ช่วงนั้นเป็นหน้าแล้ง ไม่มีความกดอากาศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อย่างเช่น ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ , มองท้องฟ้าแล้วไม่มีแนวโน้มว่าฝนจะตก เพราะฟ้าใสมองเห็นดาวหรือเมฆยกตัวสูง ,และใบไม้ทุกใบแห้งสนิท เนื่องจากไม่มีฝนตกมานาน ลองเขย่าต้นไม้ดูว่ามีน้ำหยดลงมาหรือไม่ 

การกางฟลายชีท แบบปีกเป็นทรงสามเหลี่ยม เป็นวิธีที่กางง่ายและกันแดดกันฝนได้ดี

การกางฟลายชีทระหว่างต้นไม้สองต้น ทำได้ 2 แบบ 
  • กางให้ปีกเป็นทรงสี่เหลี่ยม ขอบปีกจะขนานไปกับแนวระหว่างต้นไม้ที่ใช้ผูกเปล เหมาะสำหรับฟลายชีทที่ด้านกว้างกับยาวไม่เท่ากัน วิธีนี้ยุ่งยาก เพราะ ต้องขึงปีกด้วยเชือกถึงด้านละ 3 เส้น คือตรงมุม 2 เส้น และตรงกลาง 1 เส้น รวมสองด้านเป็น 6 เส้น เพราะถ้าขึงแค่ตรงมุม โดยไม่ขึงตรงกลาง จะมีปัญหาเรื่องตกท้องช้างแล้วกลายเป็นแอ่งน้ำ แล้วหย่อนจนน้ำสามารถเทลงมาใส่ที่นอนเปียกได้
  • กางปีกเป็นทรงสามเหลี่ยม เหมาะสำหรับฟลายชีทที่ด้านกว้างกับ ยาวเท่ากัน วิธีนี้รวดเร็วเพราะ ขึงปีกแต่ละข้างด้วยเชือกเพียงเส้นเดียว ในขณะที่ยังสามารถกันฝนได้ดี แต่ฟลายชีทแบบนี้มักจะไม่มีขายทั่วไป ต้องสั่งตัด โดยคำนวณความยาวของเส้นทะแยงมุมได้จาก ความยาวของด้านคูณด้วย 1.4 ฟลายชีทที่สั่งตัด ยังสามารถออกแบบให้เป็นทรงข้าวหลามตัด (♦) ซึ่งเมื่อกางแล้ว จะมีด้านยาว (ระหว่างต้นไม้) มากกว่าด้านกว้าง (ระหว่างปีก) โดยนำผ้าสามเหลี่ยม 2 ชิ้น มาเย็บประกบกัน ให้กลายเป็นทรงข้าวหลามตัด ถ้าเจอต้นไม้สองต้นที่มีระยะห่างกันน้อย ทำให้ขึงด้านยาวได้ไม่สุด ก็สามารถหันด้านกว้างมาใช้แทนด้านยาวได้


รูปทนหลักสำคัญที่ทำให้ฟลายชีทกันฝนได้จริง คือ อย่าให้ตกท้องช้าง การขึงฟลายชีทระหว่างต้นไม้ จะตกท้องช้างตรงแนวแกนกลาง เวลากางจึงต้องเริ่มจากขึงเชือกระหว่างต้นไม้ เพื่อทำเป็นแกนกลางก่อน แล้วจึงวางฟลายชีททับลงไปบนเชือก แต่ปัญหาที่ตามมาของการขึงเชือกเป็นแกน คือ หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องหลายๆชั่วโมง น้ำจะไหลมาตามเชือก พอน้ำไหลมามากขึ้น จะเริ่มหยดใส่เปล เชือกขึงแกนฟลายชีทจะมีน้ำหยดก่อนเชือกผูกเปล เพราะผูกอยู่สูงกว่า จึงเป็นด่านแรกที่รับน้ำที่ไหลลงมาตามลำต้นของต้นไม้ วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หาอะไรมากั้นเพื่อดักน้ำ ให้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง เช่น หาเชือกอีกเส้นมาคล้องไว้บนแกน (ตามรูป) น้ำจะไหลลงไปตามเชือกที่มากั้น ถ้าฝนตกมากก็ต้องทำหลายๆจุด ถ้ายังมีน้ำเล็ดลอดมา ให้หาผ้าที่ซับน้ำได้ดี มาแขวนไว้ทำเหมือนตากผ้าธรรมดา ผ้าจะซับน้ำที่ไหลลงมาตามเชือก ส่วนวิธีที่สะดวกที่สุดคือ ใช้ตัวล็อคเชือกเต็นท์ โดยนำมาร้อยไว้ในเชือก จะทำให้เชือกเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อย น้ำที่ไหลมาตามเชือกก็จะไหลต่อไปตามตัวล็อคเชือกเต็นท์ แล้วหยดลงพื้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการใช้เชือกขึงแกนฟลายชีท จะยุ่งยากเพราะต้องป้องกันเรื่องน้ำหยด แต่ก็มีข้อดีคือ ใช้แขวนสิ่งของได้ โดยเฉพาะแขวนมุ้งของเปล 


ในป่าที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น จะไม่มีลมแรง เวลาฝนตก จะหยดลงมาตรงๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ฟลายชีทขนาดใหญ่นัก ขนาดของ flysheet ควรจะยาวกว่าความยาวของเปลสนาม ประมาณ 50-70 ซม  ถ้ายาวเกินไปอาจจะชนต้นไม้ ทำให้ขึงไม่ตึง  ถ้าเป็นฟลายชีทที่กางปีกทรงสี่เหลี่ยม ทั้งผืนกว้าง 1.5 เมตร ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะ มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่สามารถคลุมเปลได้พอดี แต่ถ้าขึ้นไปใกล้ยอดเขา หรือที่โล่ง จะเริ่มลมแรง โดยเฉพาะเวลาพายุเข้า ลมจะพัดเข้ามาทุกทิศทุกทางแม้แต่ด้านข้าง เม็ดฝนขนานมากับพื้นเลย ต้องใช้ด้านกว้างคลุมเปลให้หมด คือ ทั้งผืนต้องกว้างประมาณ 3 เมตร ถ้ากว้าง 2 เมตรจะน้อยเกินไป ถ้ากว้างมากกว่านี้จะเกะกะ ถ้าฟลายชีทกว้างไม่พอ ต้องสร้างกำแพงธรรมชาติขึ้น เช่น หาพุ่มไม้มาบัง

ถ้าไปซื้อฟลายชีทสำเร็จรูป มักจะถูกโกงขนาด เช่น 3 เมตร แต่วัดได้แค่ 2.7 เมตร บางทีหนาไป บางทีไม่มีสีที่ต้องการ ผมจึงไปซื้อผ้ามาตัดเอง และใช้จักรธรรมดาเย็บขอบได้ แหล่งขายคือถนน.เจริญรัถ วงเวียนใหญ่ โดยซื้อผ้าเคลือบกันน้ำแบบ silver coating ซึ่งมีข้อดีคือ นอกจากกันน้ำ 100% แล้วเมื่อสารเคลือบลอกก็จะรู้ได้ ถ้าเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์จะบางมาก และ เบากว่าผ้าไนล่อนเกือบครึ่ง แถมยังราคาถูกกว่าด้วย ผ้าไนล่อนถึงแม้ว่าจะยืดหยุ่นได้ดีกว่า แต่ฟลายชีทไม่ต้องรับน้ำหนัก จึงไม่ต้องการคุณสมบัติยืดหยุ่นเหมือนเปล วิธีสังเกตุผ้าโพลีเอสเตอร์คือ นอกจากจะบางกว่าผ้าไนล่อนแล้ว เวลาขยำจะมีรอยยับ ต่างจากผ้าไนล่อนซึ่งเวลาขยำแล้วจะไม่มีรอยยับ แต่เวลาซื้อผ้าต้องลองส่องแสงไฟดูว่าเคลือบได้สม่ำเสมอหรือไม่ ส่วนการทำหูร้อยเชือก ไม่ควรจะตอกตาไก่ แต่ควรจะใช้สายไนล่อนมาเย็บทำเป็นหูจะแข็งแรงกว่า


ผ้าม้วนที่ตัดขาย จะมีหน้ากว้างประมาณ 1.5 เมตร ถ้าทำฟลายชีทกว้างเกิน 1.5 เมตรจะต้องใช้ผ้า 2 ผืนมาต่อกัน และรอยเย็บต่อกันนี้เอง ที่น้ำซึมลงมาได้ ยิ่งเวลาขึงฟลายชีทให้ตึง รูจะยิ่งกว้างขึ้น วิธีแก้ไขคือ ซื้อกาวอุดรูรั่วมาทา โดยกาวจะต้องเป็นชนิดเดียวกับสารเคลือบกันน้ำ ก่อนซื้อผ้าจึงควรสอบถามคนขายว่าใช้อะไรเคลือบ ซึ่งคนขายมักจะไม่รู้ เราจึงต้องเดาเอาเอง ส่วนใหญ่ผ้ากันน้ำราคาถูก น้ำหนักเบา แม้แต่ผ้า silver coating มักจะเคลือบ polyurethane (PU) จึงต้องทากาว PU แต่ถ้าทากาว PU แล้วไม่ติดผ้า แสดงว่าผ้าอาจเคลือบ silicone เรียกว่า silnylon จะต้องเปลี่ยนไปใช้กาว silicone อุดแทน ผ้าเคลือบ acrylic หรือ PU จะเคลือบแค่ด้านเดียว ส่วนผ้าที่เคลือบ silicone ถึงแม้จะเคลือบทั้ง 2 ด้าน แต่มีน้ำหนักเบากว่า และราคาแพงกว่า ส่วนพวกเทปกาวส่วนใหญ่จะนำมาแปะไม่ได้ผล เพราะกาวเมื่อโดนน้ำจะละลายแล้วลอก

สารเคลือบผิวพวก PU ถ้าใช้งานหนักติดต่อกันหลายปี มีโอกาสลอกได้ ข้อควรระวังในการใช้ผ้าเคลือบ PU คือ ใช้เสร็จแล้วต้องตากให้แห้ง อย่าเก็บทั้งที่ยังเปียกๆเป็นเวลานาน เพราะว่า น้ำจะค่อยๆละลายสารเคลือบจนผ้าติดกันเป็นก้อน

การใช้เชือกขึงฟลายชีทในป่าซึ่งมีต้นไม้มาก ไม่จำเป็นต้องพกสมอบกไปให้หนัก สมอบกเหมาะสำหรับใช้ตามลานกางเต็นท์โล่งๆ ถ้าไม่มีต้นไม้ให้ยึด การขึงฟลายชีทในป่า พยายามส้งเกตุรอบข้างให้ทะลุปรุโปร่ง มักจะมีจุดให้ผูกเสมอ หรือคิดดัดแปลงจนได้ เช่น ถ้าอยู่ในถ้ำหรือบนก้อนหิน อาจมีติ่งเล็กๆ ถ้าไม่มีก็สามารถนำก้อนหินขนาดใหญ่พอที่จะไม่เคลื่อนที่เมื่อถูกดึง มาวางแล้วผูกเชือกกับแง่งของก้อนหินเพื่อไม่ให้ลื่นหลุดง่าย หรือหากิ่งไม้สั้นๆยาวประมาณหนึ่งคืบ แล้วนำกิ่งไม้ไปขัดกับซอกหินที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ถ้าอยู่กลางทุ่งหญ้าอาจรวบหญ้าเป็นกอแล้วพันเชือกไว้ ถ้าอยู่บนดิน อาจตัดกิ่งไม้สด มาเหลาปลายให้แหลม ปักลงดิน โดยใช้ก้อนหินตอกแทนค้อน ควรใช้ไม้ที่มีกิ่ง เพื่อให้ปลายอีกด้านเป็นตะขอ ถ้าไม่มีตะขอ ให้เซาะไม้เป็นร่อง สำหรับผูกเชือก  ถ้ายังไม่มีที่ผูกใกล้ๆ ให้มองไปให้ไกลขึ้น อาจต้องขึงเชือกข้ามลำห้วยเพื่อผูกกับกิ่งไม้ฝั่งตรงข้าม

ถ้าก่อกองไฟ แล้วฝนตกตอนกลางคืน กองไฟจะดับ จึงอาจหาฟลายชีทผืนเล็กๆอีกผืน ไปคลุมกองไฟด้วย โดยกางให้ด้านหนึ่งต่ำกว่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อไล่ควันไปทางด้านที่สูงกว่า

ถ้าไม่มีฟลายชีท เราสามารถทำหลังคาขึ้นเอง โดยตัดไม้ตรงๆมาพาดระหว่างต้นไม้ ทำเป็นคาน สูงประมาณหัวไหล่ เพื่อเวลาผูกเชือกจะได้ใช้หัวไหล่รองไม้ไว้ ถ้าไม่มีต้นไม้ ให้ทำสามขารองไว้แทน ส่วนที่เหลือคือโครงหลังคา โดยหาไม้ตรงๆมาเพิ่ม ด้านหนึ่งมาวางพาดไว้กับคาน เป็นซี่ๆ ห่างกันประมาณหนึ่งคืบ แล้วใช้เชือกผูกไว้กับคาน ส่วนปลายอีกด้านปักลงดิน ถ้าไม่มีดิน สามารถหาไม้ใหญ่ๆหรือก้อนหินใหญ่มายันไว้ หรือทำเนินโดยใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนกัน แล้วใช้ดินกลบ หลังจากนั้นจึงมุงหลังคา โดยตัดกิ่งไม้ที่มีใบกว้างๆ เช่น ใบกล้วย มาวางทับโครงเพื่อกันฝน




เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์

อ่านต่อบทความคู่มือเดินป่า...ตอนที่ 8>>>>>>>>

คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5
.
คู่มือเดินป่าตอนที่5...https://goo.gl/5ACh2f
.
คู่มือเดินป่าตอนที่6...https://goo.gl/vx1qtc

ดูสินค้าของเรา....คลิก

คุณสามารถติดตามพูดคุยกับเราได้ที่>>>  เพจ"เอาตัวรอดในป่า"


By :อยู่อย่างเสือ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น