โพสต์แนะนำ

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 "เตรียมตัวก่อนเข้าป่า"

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 ทำไมต้องเดินป่า การเดินในป่า เป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ...

คู่มือเดินป่า...ตอนที่ 7 "การเลือกที่พัก"

 คู่มือเดินป่า...ตอนที่ 7.....การเลือกที่พัก



กฎข้อที่สองของการเดินป่าคือ ที่พัก


เรื่องแรกที่ควรจะคิดก่อนออกเดินทางคือ คืนนี้จะนอนที่ไหน และตรงนั้นนอนหลับได้หรือไม่ คนเมืองมักจะเคยชินกับการนอนดึก และมักจะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องที่พักกัน พอมืดค่ำจะได้ที่พักที่ไม่เหมาะสม ใกล้ทางด่านสัตว์ หรือ ไม่มีน้ำเพียงพอ อยู่ในดงทากหรือดงเห็บ ถ้าโดนกัดตอนนอน จะโดนเยอะกว่าตอนเดิน เพราะเวลาอยู่เฉยๆแล้วพวกมันจะเดินมาหาได้ง่าย  มืดแล้วจะทำอะไรก็ติดๆขัดๆ

การเดินในป่า ต้องพึ่งแสงอาทิตย์เป็นหลัก แสงจากไฟฉายยังน้อยเกินกว่าที่จะเดินในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น กฎของการเดินทางในป่าคือ หาที่พักที่เหมาะสมให้ได้ก่อนมืดค่ำ ไม่ว่าจะลุยสักแค่ไหนก็ตาม ควรถึงจุดหมายก่อนบ่าย 3 โมงครึ่ง  เพราะหลังจาก 3 โมงครึ่งไปแล้วป่าจะเริ่มมืด ช่วงบ่าย 3 โมงเย็น-8โมงเช้า เป็นเวลาที่สัตว์ป่าออกหากิน เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนในตอนกลางวัน ซึ่งจะทำให้มันหิวน้ำง่าย แสงแดดหลังบ่าย 3 โมงเย็น จะเริ่มหลอกตาทำให้หลงทางได้ง่าย ถ้ามองไปทางที่แสงแดดส่องมา แสงจะส่องเข้าตาทำให้ตาพร่ามองไม่เห็นทาง ถ้ามองไปทิศอื่น แสงแดดจะส่องทะลุใบไม้หรือสะท้อนกับใบไม้ ตัดกับป่ารอบข้างที่เริ่มมืดทำให้เกิด contrast สูง ทำให้มองเห็นทางไม่ชัด บริเวณที่แสงตกกระทบจะสว่างผิดปกติ จนดูเหมือนกับจะมีทาง แต่เมื่อเดินเข้าไปดูกลับไม่ใช่ แม้แต่ทากก็ชุกชุมในตอนกลางคืน มากกว่าตอนกลางวัน ถ้าหลัง 6 โมงเย็นจะเริ่มมองไม่เห็นทาง หากหลงทางก่อนบ่าย 3 โมง เรายังมีเวลาคลำทางหาที่พักอีก 3-4 ชั่วโมง หรือถ้าที่พักไม่เหมาะสม เรายังมีเวลาเหลือพอที่จะย้ายได้อีก ยกเว้น ถ้ามีที่พักอยู่แล้ว และ ชำนาญทาง อาจจะกลับช้ากว่าบ่าย 3 โมงครึ่งได้ แต่อย่างน้อยประมาณบ่าย 3 โมงเย็น ก็ควรหมดเวลาสำรวจ และกลับเข้าทางที่รู้จักได้แล้ว แต่ไม่ควรจะเดินในป่าเกิน 5 โมงเย็น เพราะมีโอกาสเจอสัตว์ป่าสูงมาก การหาที่พักช่วงใกล้ค่ำ อาจได้ที่พักแบบมัดมือชก ถ้าต้องเดินทางไกล ควรตื่นแต่เช้ามืด แล้วรีบออกเดินทางตั้งแต่เช้า ดีกว่าที่จะเดินทางจนมืดค่ำ

เมื่อถึงที่พักแล้วยังต้องทำธุระอีกหลายอย่าง ตั้งแต่หาฟืน เตรียมฟืน ทำอาหาร อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า ตากผ้า กางฟลายชีท ผูกเปล กินข้าว ล้างจาน ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะถึงที่พักบ่าย 3 โมงครึ่ง กว่าจะทำธุระเหล่านี้เสร็จก็ค่ำพอดี

ปกติเมื่อเดินป่าถึงบ่าย 3 โมง แล้วยังไม่ถึงจุดหมาย ควรจะหาแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด จะไม่ฝืนเดินทางต่อไปยังจุดหมายที่ไม่แน่ใจ รอรุ่งเช้าค่อยออกเดินทางต่อ การฝืนเดินป่าในช่วงใกล้มืดนั้น มองเห็นทางไม่ชัด ทำให้มีโอกาสหลงได้ง่าย และ ยังมีโอกาสเผชิญหน้ากับสัตว์สูง อาจจะเหยียบงู เพราะงูส่วนใหญ่จะอยู่บนต้นไม้ในตอนกลางวัน และลงมาหากินตามพื้นในตอนกลางคืน คนส่วนใหญ่จะเผชิญหน้ากับสัตว์ป่าหลังจากบ่าย 3 โมงเย็นไปแล้ว เคยมีคนที่เดินป่าตอน 6 โมงเย็น มัวแต่มองทาง จนไปชนกับช้าง จึงโดนช้างใช้งวงจับเข็มขัดเขาไว้ แล้วเหวี่ยงไปมา โชคดีที่เข็มขัดขาดเสียก่อน เขาจึงรอดมาได้

เมื่อไปถึงจุดหมายแล้ว มีขั้นตอนการเตรียมที่พักดังนี้
  1. สำรวจสถานที่ และหาต้นไม้ผูกเปล เพราะบางแห่งอาจไม่เหมาะเป็นที่พัก เช่น ไม่มีต้นไม้ผูกเปล มียุงเยอะ เป็นดงเห็บ มีลมพัดแรง ไม่มีน้ำ ฯลฯ ทำให้ต้องย้ายสถานที่
  2. เลือกต้นไม้ผูกเปล ดูว่าต้นไม้ไม่มีมดไต่อยู่เป็นทาง ทดลองดึงและขย่มต้นไม้ดูว่า จะไม่งอหรือหักโค่นลงมา ต้นไม้ที่เล็กเกินไปจะมีโอกาสงอได้ง่าย ต้นไม้ที่ตายแล้วมีโอกาสหักโค่นสูง
  3. ถางป่า ที่นอนควรอยู่นอกทางด่านสัตว์ เพื่อไม่ให้โดนสัตว์รบกวน แต่จุดที่อยู่นอกทางด่านสัตว์ มักจะรก จึงต้องใช้มีดขอหวดถางวัชพืชให้เกลี้ยง
  4. ผูกเปล ยกเว้นถ้าฝนตก ควรกางฟลายชีทกันฝนก่อน เปลเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการนอน ถ้าผูกแล้วมีปัญหาจะได้ย้ายที่ได้ง่าย โดยไม่ต้องเก็บอุปกรณ์อื่น หลังจากผูกเปลเสร็จแล้ว ควรทดลองนอน ลองขย่มดูว่า ไม่มีอะไรหักหรืองอ ถ้าไม่ทดลองแล้วพอถึงเวลาเข้านอนจริงแล้วมีปัญหา จะต้องลำบากหาที่นอนใหม่ตอนมืดค่ำ ซึ่งหายากแถมยังอันตรายกว่าการหาที่นอนในช่วงที่ยังมีแสงแดดอยู่ ผมเคยเจอมาหลายรูปแบบ ทั้งต้นไม้ไม่แข็งพอ ทำให้เปลและฟลายชีทหย่อน พอฝนตกน้ำจึงไหลจากฟลายชีทมาลงเปล หรือ ต้นไม้ผุหักลงมาทับตัวขณะกำลังจะปีนขึ้นนอน โชคดีที่เป็นต้นไม้ไม่ใหญ่จนเกินไป จึงไม่เป็นอะไรมาก แต่การเปลี่ยนที่ผูกเปลตอนมืด โดยเฉพาะช่วงใกล้เข้านอน ก็เป็นเรื่องยุ่งพอสมควร
  5. กางฟลายชีท
  6. กางผ้าปูพื้นเพื่อวางของ
เรื่องที่ควรระวังในการจัดที่พักคือ เสื้อผ้าเครื่องนอนตกน้ำเปียก เพราะ ที่พักมักจะอยู่ใกล้น้ำ ถุงนอนหรือเสื้อผ้าที่วางไว้ตามต้นไม้หรือก้อนหินริมน้ำ มีโอกาสที่จะกลิ้งลงน้ำ หากมือเผลอไปโดน หรือแม้แต่ต้นไม้ขย่มเวลาทดลองนอนเปล พอเสื้อผ้าเครื่องนอนเปียก จะใช้นอนไม่ได้ ถ้าตากไว้ ตอนเช้ามักจะไม่แห้ง วิธีป้องกันไม่ให้ของใช้ตกน้ำคือ อย่านำออกมาจากเป้จนกว่าจะใช้ หรือ ถ้าจำเป็นต้องนำมาวางไว้ข้างนอก ให้ใส่ถุงแล้วผูกไว้ ถ้ายังไม่ได้ผูกเปลก็ผูกของไว้กับต้นไม้ ถ้าผูกเปลแล้ว อาจจะผูกไว้กับเปล

ในป่าที่มีสัตว์ ควรหากำแพงธรรมชาติ อาจเป็นแนวต้นไม้ใหญ่ล้มจนรกท่วมหัว ดงเถาวัลย์ หน้าผาชัน ที่สัตว์จะเดินฝ่ามาไม่ได้ สัตว์ป่าจะคล้ายๆคน ถ้ารกมาก หรือชันมาก จะเดินไม่ไหว การหันหลังเข้าหากำแพงจะช่วยให้เราไม่ต้องระวังภัยจากด้านหลัง โดยเฉพาะเวลาก่อไฟหรือหุงข้าว เคยมีเหตุการณ์ที่หมีได้กลิ่นอาหาร แล้วย่องเข้ามาด้านหลังของคน ทำให้คนถูกทำร้าย แต่ถ้าหันหน้าเข้าหากัน สัตว์จะไม่กล้าเข้ามามากนัก ถ้าไม่มีกำแพงธรรมชาติ เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ โดยใช้ไม้มาทำรั้ว เหมือนคอกส้ตว์ ถ้าสูงกว่าหัวสัตว์ คือประมาณระดับหน้าอกคน ก็สามารถป้องกันสัตว์กระโดดข้ามรั้วได้ (แต่ถ้าสูงแค่คอมัน บางตัวสามารถกระโดดข้ามมาได้) อาจจะตัดกิ่งไม้ที่มีพุ่มใหญ่ๆ มาวางซ้อนๆกัน การทำรั้วทำได้หลายวิธี ถ้าต้นไม้ไม่สูงมาก อาจโน้มยอดลงมาผูกไว้ด้วยกันเป็นโดม ถ้ามีต้นไม้สองต้นทำเป็นเสาได้ ให้ตัดกิ่งไม้มาพาด แล้วผูกเชือกไว้ ถ้าไม่มีต้นไม้เป็นเสา ให้ทำสามขา ถ้าฝั่งหนึ่งมั่นคงแล้ว อีกฝั่งไม่ต้องทำถึงสามขา จะทำแค่สองขาก็ได้ รั้วต้องทำให้รอบ อย่าเปิดโล่งแม้แต่ริมน้ำ เพราะสัตว์สามารถลุยน้ำอ้อมเข้ามาได้ แม้แต่เสือก็ว่ายน้ำได้ รั้วที่ทำไว้ดี สามารถป้องกันสัตว์ป่าได้ทุกชนิด ยกเว้นช้าง ซึ่งสามารถวิ่งชนหรือรื้อรั้วได้ แต่อย่างน้อย เราก็จะได้ยินเสียงรั้วหัก ก่อนที่ช้างจะมาถึงตัว การนอนติดกับหน้าผาชัน ถึงแม้ว่าจะปลอดภัยจากสัตว์ เพราะสัตว์ไม่เดินทางชัน แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอดินถล่ม โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำไหลลงมา แต่ไม่มีลำธารชัดเจน น้ำจะกัดเซาะดินและหินถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ

อย่านอนตากลม การนอนตากลมมีผล 2 อย่างคือ หนาวตาย หรือ หนาวจนนอนไม่หลับทั้งคืน หลายจุดที่ช่วงเย็นไม่มีลมหรือลมอ่อนๆเย็นสบาย แต่พอมืดลงก็จะมีลมพัดแรงมาก พอถึงตอนนั้น ถ้ารื้อของออกมาทำที่พักเสร็จแล้ว จะเก็บก็ลำบาก แค่อุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศชื้น บวกกับ ลมแรงตลอดเวลา ก็สามารถทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายลดต่ำลงจนเกิดอาการป่วยที่เรียกว่า hypothermia ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะใส่เสื้อผ้าแห้งสนิทและใส่ชุดกันลมก็ตาม อาการสั่นคืออาการเริ่มแรกของ hypothermia ที่ร่างกายพยายามสร้างความอบอุ่น พอเริ่มสั่นก็เริ่มเฉื่อย ร่างกายเริ่มตอบสนองช้าลงเรื่อยๆ จนเริ่มขยับตัวไม่ได้ ถึงตอนนั้นก็ไม่มีแรงพอที่จะเก็บของแล้ว พอหยุดสั่นเมื่อไหร่ นั่นคือใกล้ตายแล้ว ถ้าเริ่มร้อนจนต้องถอดเสื้อแสดงว่าใกล้หมดสติแล้ว คนที่เครื่องกันหนาวไม่พอ ถุงนอนไม่หนาพอ มักจะหนาวตายในที่สุด แต่เวลาอยู่ในป่า มีเครื่องกันหนาวจำกัด เพราะเราไม่สามารถแบกเครื่องกันหนาวไปได้มากนัก ถึงแม้จะไม่หนาวตาย แต่ก็จะหนาวจนนอนไม่หลับทั้งคืน สังเกตุง่ายๆบริเวณที่ตอนกลางคืนมีลมแรงคือ จุดที่มองเห็นวิวเปิดโล่ง ไม่มีต้นไม้บัง อาจเป็นบนยอดเขา หรือ ตรงช่องเขา ถึงแม้ว่าบริเวณที่มีลมจะไม่มีแมลง  แต่ลมตอนกลางคืนจะแรงจนหนาวจนทนไม่ไหว ดังนั้นทางที่ดี ควรป้องกันไว้ล่วงหน้าด้วยการ หาที่พักที่หลบลมได้ ยอมทนแมลงอยู่ในที่อับลมดีกว่า เพราะเราสามารถป้องกันแมลง ได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ฉีดตะไคร้หอม และ ก่อกองไฟไล่แมลงได้ ถ้าอยู่บนสันเขาเปิดโล่ง ให้หาแนวต้นไม้บังลม หรือ เดินลงเขามาเล็กน้อย เพื่ออาศัยสันเขาช่วยบังลม หรือหาไม้มาทำกำแพงบังลมไว้

อย่าไปอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เพราะ ต้นไม้อาจจะหักโค่นลงมาทับ มีทั้งล้มลงมาทั้งต้นเพราะลำต้นฉีกขาดออกจากราก หรือหักลงมาเป็นกิ่ง เพราะกิ่งที่ยื่นออกจากลำต้น ส่วนปลายจะแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ จึงเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย โคนกิ่งส่วนที่ยึดกับลำต้น รับน้ำหนักไม่ไหว แค่ฝนตกปรอยๆในช่วงต้นจนถึงปลายฤดูฝนก็เพียงพอแล้ว ที่จะเพิ่มน้ำหนัก ทำให้โคนกิ่งฉีกออกมาจากลำต้นได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องมีลมแรงหรือมีฝนตกหนัก บางทีฝนตกอยู่ 2 วัน พอวันที่สามไม่มีฝน ก็ยังหักโค่นลงมา จึงไม่แปลกที่เวลาที่เราอยู่ป่าแล้วได้ยินเสียงไม้หักโค่นเอง ตามธรรมชาติ  แต่ถ้ามีพายุเข้าก็มีโอกาสหักโค่นมากขึ้น ผมเคยเจอมากับตัวเองครั้งหนึ่ง ขณะนั้นเป็นช่วงต้นฤดูฝน ฝนหยุดตกแล้ว ไม่มีลม แต่อยู่ดีๆก็ได้ยินเสียงไม้หักดังเปรี๊ยะ แล้วกิ่งไม้ขนาดใหญ่ ก็ขาดออกจากลำต้น หักโค่นลงมาทับข้าวของที่วางอยู่ตรงหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีคำเตือนใดๆ เรียกว่า ได้ยินเสียงไม้หักก็หนีไม่ทันแล้ว โคนกิ่งมีขนาดใหญ่กว่าโคนขา ปลายกิ่งยังหนักขนาดที่ว่าขยับไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องยก ถึงแม้ว่าจะตัดกิ่งย่อยๆออกจนหมดแล้ว เหลือแต่กิ่งหลัก ก็ยังยกไม่ขึ้น ทำได้แค่ดันขยับออกไป หรือถ้าจะยกก็ต้องใช้กิ่งไม้ยาวๆมางัดขึ้น เรียกว่า ไม้ซีกงัดไม้ซูง โดยสอดไม้ซีกเข้าไปใต้ไม้ซูง ให้ปลายอยู่เลยไปพอสมควร แล้วยกไม้ซีกฝั่งหนึ่งขึ้นปล่อยให้ไม้ซูงไถลไปทางปลายไม้ซีกฝั่งที่อยู่ ต่ำกว่า ซึ่งไม้ซูงหนักขนาดนี้ แน่นอนว่าถ้าคนโดนทับ ก็คือตายแน่ แค่โดนปลายกิ่งโขกใส่ทีเดียวก็กระดูกแตกแล้ว ต้นไม้ที่ขึ้นชื่อว่าชอบสลัดกิ่ง อย่างต้นยางนา โคนกิ่งอาจมีขนาดใหญ่เท่าลำตัวคน เคยมีคนโดนกิ่นยางนาหล่นทับรถ จนกระจกแตก กระโปรงหน้ายุบ เราจึงมักไม่พบต้นไม้ที่ชอบสลัดกิ่งเหล่านี้ใกล้บ้านเรือนคน แม้แต่ต้นไม้ที่อยู่ใกล้บ้านเรือนคนอย่างเช่น ต้นก้ามปู ก็เคยหักโค่นลงมาทั้งต้น ล้มทับสายไฟ โคนต้นมีขนาดแค่เท่าตัวคน แต่ยังทำเสาไฟฟ้าหักเป็นสิบต้น ต้นไม้เล็กๆถือว่าปลอดภัย แต่ก็ต้องดูให้ดีๆว่าไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่แตกกิ่งก้านสาขามาคลุมอยู่ด้านบน โดยเฉพาะกิ่งที่เอียงทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้น และเริ่มย้อยลงมา มีโอกาสหักสูงมาก กิ่งที่ค่อนข้างปลอดภัยคือ กิ่งที่ชี้ขึ้นฟ้า

อย่าอยู่ใกล้ต้นไม้ที่ยืนต้นตาย เพราะ อาจจะมีปลวกเข้าไปกัดกินอยู่โคนต้น พอถึงเวลาที่เหมาะสม จะหักโค่นลงมา ถึงแม้จะเป็นฤดูร้อน ที่ไม่มีลมก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องผูกเปลกับต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ควรสำรวจโคนต้นให้ดีว่า ไม่มีปลวกมาทำรัง ทดลองนอนขย่มหลายๆรอบจนกว่าจะแน่ใจ และดูแนวต้นไม้ล้มว่าจะไม่ล้มมาทับตัวเรา

ถ้าต้นไม้มีมดไต่อยู่ และจำเป็นต้องผูกเปล สามารถทำได้โดยใช้แป้งเด็กทาบริเวณเชือก จะกันได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือที่อาจไต่ข้ามมา ป้องกันได้โดยใช้เปลที่มีมุ้ง

อย่านอนในที่สัตว์เดิน ทางด่านสัตว์นั้นจัดว่าเป็นพื้นที่สังหาร ห้ามนอนเลย กลางคืนอาจจะหลับไม่สบาย ต้องผวากับสัตว์ที่ผ่านมา ควรหลบเข้าข้างทาง แล้วถางป่าเป็นที่นอนจะสบายกว่า สังเกตุว่าไม่มีร่องรอยสัตว์ ทั้งรอยเท้าและขี้สัตว์ ถือว่าใช้ได้ ในป่าใหญ่ที่สัตว์ชุกชุม ควรจะหลบไปไกลๆทางด่านเท่าที่จะทำได้ เพราะช้างอาจจะมาเป็นฝูงจนล้นทางด่าน แล้วกระจายหากินกันอยู่รอบๆบริเวณนั้น ฝูงขนาดกลางมีประมาณ 30 กว่าตัว ฝูงใหญ่อาจมีถึง 60 กว่าตัว วิธีสังเกตุว่าที่ไหนสัตว์เดินคือ จะมีรอยเท้า และ ขี้สัตว์ คณะของผมเคยเจอมากับตัวเองขณะนอนค้างกลางป่าเขาใหญ่ ทุกคนหลบเข้าข้างทางเพื่อผูกเปล พอตอนดึกช้างตัวหนึ่งร้องแปร๊นวิ่งมาตามทางด่าน

อย่านอนในบริเวณที่มีอาหารสัตว์ เช่น โป่ง ดงผลไม้ ดงหน่อไม้ เพราะจะมีสัตว์ใหญ่อย่างหมี หมูป่า หรือช้าง มาหาอาหารกิน แม้จะมีสัตว์ที่ไม่อันตรายอย่างกวาง แต่ก็จะมีสัตว์อันตรายอย่างเสือ หมาป่า ตามมา สังเกตุว่า บริเวณที่เป็นโป่ง จะเป็นดินล้วนๆ ไม่มีต้นไม้ขึ้น แต่มีรอยเท้าสัตว์และขี้สัตว์จำนวนมาก ถ้ามีฝนตกหนักสักพัก จะมีน้ำขังคล้ายบึงขนาดเล็ก

อย่านอนในพื้นที่ๆสัตว์นอน เพราะนอกจากจะมีโอกาสเจอสัตว์แล้ว ที่เหล่านั้นจะมีเห็บมาก พื้นที่ที่สัตว์นอนมักจะเป็นที่โล่งในป่า เช่น ที่ราบ ที่ชุ่มน้ำ โคนต้นไม้ โดยเฉพาะบริเวณที่แสงแดดส่องถึง สัตว์จะชอบมานอนอาบแดดตอนเช้าๆ ตั้งแต่งู จนถึงสัตว์ใหญ่อย่างหมาไน ส่วนที่สัตว์ไม่นอน เช่น ตามโหนก ที่รกๆ ชันๆ หรือสถานที่ไม่เรียบ


หาทางหนีทีไล่ไว้ด้วย ทั้งทางหนีสัตว์ป่าอย่างช้าง จนถึงทางหนีน้ำป่า ห้วยเล็กๆจะดีกว่าลำน้ำสายใหญ่ ตรงที่น้ำสะอาดและค่อนข้างปลอดภัยจากน้ำป่า ห้วยสายใหญ่อาจจะมีสิ่งปนเปื้อนมาจากต้นน้ำ ถ้าเดินตามลำห้วยสายใหญ่ ควรมองหาลำธารสายเล็กข้างทาง ที่ไหลมาชนกับสายใหญ่ แล้วปีนขึ้นไปพักริมลำธารสายเล็ก พยายามอย่าพักริมลำห้วยสายใหญ่ เพราะ มีโอกาสเจอน้ำป่าได้ง่าย บางทีฝนตกหนักบนยอดเขา แต่บริเวณที่พักอาจไม่ตก บางทีมีแดดเปรี้ยงๆด้วยซ้ำ การนอนใกล้น้ำริมลำธารสายใหญ่สามารถทำได้ ในกรณีที่แน่ใจว่าจะไม่มีน้ำป่า อย่างในฤดูแล้งที่ไม่มีฝนตก จะนอนตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำป่าหรือไม่

   พยายามอย่านอนฝั่งที่น้ำพัดมาปะทะ เช่น ถ้าน้ำโค้งไปทางซ้าย อย่านอนฝั่งขวา มิฉะนั้นเวลาน้ำป่ามาจะโดนเต็มๆ เหมือนรถแหกโค้งมาชน และควรนอนบนตลิ่งที่สูงพอที่น้ำป่าจะขึ้นไปไม่ถึง ถ้าหานอนบนที่สูงไม่ได้ ควรนอนฝั่งที่ติดกับภูเขาที่จะสามารถหนีขึ้นที่สูงได้ หรือหาจุดที่มีก้อนหินใหญ่บังกระแสน้ำ เวลาน้ำป่ามา น้ำอาจจะไหลแรงขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะทะลักมาทีเดียว แต่มักจะมีสัญญาณเตือนก่อน เช่น มีเสียงน้ำดังมาจากเหนือน้ำ น้ำเปลี่ยนเป็นสีขุ่นแดง น้ำเริ่มเย็น มีกลิ่นดินโคลนคละคลุ้ง หรือมีเสียงผิดปกติมาจากภูเขาด้านบนเหนือน้ำ เหมือนเสียงระเบิดหรือฟ้าผ่าหรือเสียงรถไฟ มีเสียงกิ่งไม้หัก เสียงก้อนหินกระทบกัน นั่นหมายถึงว่า น้ำป่ากำลังมา และอีกไม่กี่นาที น้ำก็จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจสูง 2-3 เมตร คนที่รอดตายจากน้ำป่าก็เพราะได้ยินเสียงเหล่านี้แล้วสะดุ้งตื่นหนีขึ้นที่สูงทัน คนที่ติดอยู่กลางน้ำแล้วรอดมาได้ คือคนที่อาศัยปีนขึ้นบนก้อนหินใหญ่มากพอที่น้ำท่วมไม่ถึง หรือหาต้นไม้เกาะอยู่กลางน้ำ คนที่อยู่เฉยๆไม่ทำอะไร จะเจอน้ำแรงขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถพัดคนให้ลอยไปตามน้ำได้ คนที่โดนน้ำพัดไปแล้ว โอกาสรอดยาก เพราะจะจมน้ำตาย หรือร่างไปกระแทกกับก้อนหินและกิ่งไม้ น้ำป่าไม่จำเป็นต้องเกิดในป่าที่ถูกบุกรุกเสมอไป
      แม้แต่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ถ้ามีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน หรือ  ฝนตกบนภูเขาติดต่อกันหลายวัน ก็ทำให้เกิดน้ำป่าได้ เพราะมีพวกกิ่งไม้อุดตันขวางทางน้ำ ทำให้น้ำกลายเป็นแอ่งพอถึงจุดหนึ่งจึงเหมือนเขื่อนแตก กระแสน้ำพัดพาท่อนซุงมาด้วย ก้อนหินขนาดไม่ใหญ่มากอาจจะโดนน้ำพัดไปได้ สังเกตุว่าจุดที่เคยมีน้ำป่า จะมีก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่ในลำธาร เพราะน้ำป่าพัดพาก้อนหินเหล่านั้นมา ถึงแม้ว่าจุดที่เราอยู่ จะไม่มีฝนตก แต่ฝนอาจจะตกที่อื่นได้

หลีกเลี่ยงการนอนใกล้หน้าดินที่สูงชันมากเกินไป เพราะอาจเกิดดินถล่มได้ ดินถล่มสามารถเกิดได้ตามธรรมชาติในบริเวณที่สูงชัน ไม่ได้เกิดจากการบุกรุกทำลายป่า

จุดที่นอน ควรระวังก้อนหินและกิ่งไม้หล่นลงมา สังเกตุว่าไม่มีก้อนหินหรือกิ่งไม้แห้งอยู่ด้านบนหรือบริเวณรอบๆ มิฉะนั้น ถ้าลมแรงพัดมา กิ่งไม้อาจจะหักลงมา กิ่งไม้ที่อยู่มานานจะมีเถาวัลย์พันอยู่ ก็จะพาเถาวัลย์ลงมาทั้งพวง ดึงเอากิ่งรอบข้างลงมาด้วย แค่กิ่งไม้ขนาดเขื่องหล่นใส่ตัว ก็เพียงพอที่จะทำให้กระดูกหัก หรือไหล่หลุดได้แล้ว

การนอนบนเนินหรือบริเวณที่เห็นวิวโดยรอบ จะได้เปรียบ เวลาสัตว์อะไรเดินมา เราจะมองเห็นได้ง่าย
ถ้าก่อกองไฟไว้ อย่านอนในทิศทางลม มิฉะนั้นจะต้องนอนดมควันไฟ ถ้าอยู่ริมลำธาร ลมจะพัดทวนน้ำในตอนกลางวัน และ ตามน้ำในตอนกลางคืน

เมื่อแน่ใจว่าจะนอนตรงไหนแล้ว ควรเริ่มด้วยการ ใช้มีดถางวัชพืชบริเวณที่พักให้โล่ง เพื่อเวลาเดินไปมาบริเวณที่พัก จะได้ไม่โดนกิ่งไม้เกี่ยว และ ไม่โดนสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ตามต้นไม้กัด ตามต้นไม้โดยเฉพาะกิ่งไม้แห้ง อาจจะมีมด ปลวก เห็บ งู ฯลฯ ถ้าพื้นรกก็ควรจะหากิ่งไม้ขนาดเล็กๆอย่างเช่น แกนของใบต้นปาล์ม นำมามัดรวมกัน ใช้กวาดพื้นได้ ถ้ามีดอกแขมที่ชาวบ้านเรียกกันว่าต้นไม้กวาด สามารถนำมาทำไม้กวาดแบบเดียวกับไม้กวาดที่ใช้ตามบ้าน

ถ้าเครื่องกันหนาวเพียงพอ ควรจะจัดที่นอนก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเครื่องกันหนาวพอหรือไม่ ควรหาฟืนให้พอก่อน เพราะถ้ามืดค่ำจะหาฟืนลำบาก ถ้ามืดแล้วเครื่องกันหนาวไม่พอ ยังสามารถมาผิงไฟได้ แต่ถ้าเจออากาศหนาวจนร่างกายรับไม่ไหวกลายเป็น hypothermia เวลานั้น ร่างกายจะตอบสนองช้ามาก จนไม่มีแรงแม้แต่จะก่อไฟ

ถ้าไม่มีเครื่องนอน ควรปีนขึ้นไปนอนบนก้อนหินใหญ่ หรือทำห้างไว้บนต้นไม้ จะได้ปลอดภัยจากสัตว์ ตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลาน จนถึงสัตว์ใหญ่ ถ้าก้อนหินไม่เรียบ ให้หาหญ้า หรือ ตัดใบไม้มาปูรองหนาๆ โดยเวลาหาใบไม้ ให้ดูพวกเห็บ บุ้ง แมงมุม ที่เกาะอยู่ตามใบไม้ด้วย แต่ถ้าฝนตก ควรหาที่พักที่มีร่มเงา เช่น ใต้ชะง่อนหิน หรือ ในรูต้นไม้ใหญ่ ซึ่งปกติสถานที่เหล่านี้มักจะเป็นบ้านของสัตว์ จึงควรตรวจสอบก่อนเข้าไปว่าไม่มีสัตว์อยู่ และเวลาพัก ให้ทำรั้วกันสัตว์เข้ามา


เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์

อ่านต่อบทความคู่มือเดินป่า...ตอนที่ 8>>>>>>>>

คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5
.
คู่มือเดินป่าตอนที่5...https://goo.gl/5ACh2f
.
คู่มือเดินป่าตอนที่6...https://goo.gl/vx1qtc

ดูสินค้าของเรา....คลิก

คุณสามารถติดตามพูดคุยกับเราได้ที่>>>  เพจ"เอาตัวรอดในป่า"


By :อยู่อย่างเสือ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น