โพสต์แนะนำ

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 "เตรียมตัวก่อนเข้าป่า"

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 ทำไมต้องเดินป่า การเดินในป่า เป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ...

คู่มือเดินป่า..ตอนที่ 6 "เรียนรู้เรื่อง"น้ำ"ตอนจบ"

คู่มือเดินป่า..ตอนที่ 6

เรียนรู้เรื่อง"น้ำ"ตอนจบ




เวลาเข้าป่า ควรจะพกกระติกน้ำไปด้วยเสมอ ก่อนเดินมักไม่หิวน้ำ จึงไม่เห็นความจำเป็นของกระติกน้ำ แต่พอเดินไปสักพักก็จะเริ่มหิวน้ำ ต้องกินน้ำลิตรกว่าๆ จึงจะหายหิวได้บ้าง ถึงแม้ว่าข้างหน้าจะมีร้านขายของ ก็ต้องเตรียมน้ำติดตัวไปบ้าง เพราะอาจจะไปหิวน้ำกลางทาง ต้องจิบน้ำไปตลอดทางก่อนที่จะเจอร้านขายน้ำ กระติกน้ำมี 2 แบบ คือ 
  • แบบขวด
  • ถุงน้ำ
กระติกน้ำแบบขวด มีข้อดีคือ อยู่ทรง จึงทำความสะอาดด้านในง่าย แค่คว่ำไว้ก็แห้ง แต่มีข้อเสียคือกินที่ ถ้าต้องสะพายเป้ขึ้นเขาที่ไม่มีน้ำ จะต้องแบกน้ำไปหลายๆขวด จะไม่มีที่เก็บ ถ้าต้องกินน้ำบ่อยๆ จะหยิบออกจากเป้ลำบาก ถ้าต้องการกินน้ำให้สะดวกขึ้น ต้องใช้กระติกน้ำแบบคาดเอวขนาดเล็กๆสักใบช่วยด้วย แต่ถ้าใช้เป้ที่มีสายคาดเอวขนาดใหญ่ กระติกน้ำคาดเอวจะชนกับสายคาดเอวของเป้ อาจแขวนกระติกน้ำไว้ตรงด้านล่างของสายสะพายไหล่ หรือตรงสายคาดเอวของเป้ (ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องทำถุงกระติกน้ำขึ้นมาใหม่)  ถ้าไม่มีกระติกน้ำแบบคาดเอว




 วิธีที่ชาวบ้านใช้กันคือ ใช้เชือกมัดตรงปากขวดแล้วผูกไว้กับสายสะพายเป้ด้านหน้า จะช่วยให้กินน้ำสะดวกขึ้น แต่ไม่ว่าจะคาดเอวหรือสะพายไว้ด้านหน้า จะมีปัญหาเวลากระแทกเนื่องจากปีนป่ายหรือหกล้ม ขวดพลาสติกมีโอกาสขวดแตกได้ ถ้าเป็นขวดโลหะก็จะบุบ ถ้าไม่กระแทก ก็เลื่อนไปเลื่อนมา ทำให้เกะกะเวลาปีนป่าย บางคนใส่กระติกน้ำไว้ในถุงตาข่ายข้างเป้ ซึ่งนอกจากจะหยิบกินลำบากแล้ว ยังมีโอกาสหล่นหายได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาน้ำหมด เป้ที่แน่นจะบีบกระติกน้ำเปล่าๆ ให้ลื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ถ้าจะเสียบไว้ข้างเป้ วิธีป้องกันกระติกน้ำหล่นหายคือ ใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงไว้กับสายเป้ให้แน่น หรือ จะใช้เชือกผูกปากขวดไว้ก็ได้ 

ขวดน้ำขนาดเหมาะสมที่สุดคือ 1 ลิตร ขวดใหญ่กว่านี้จะเริ่มอ้วนเทอะทะ หาที่ยัดลำบาก ถ้าใส่น้ำจนเต็มขวดก็จะหนัก ถือยาก เทยาก แต่ถ้าขวดเล็กกว่านี้จะใส่น้ำได้น้อย ต้องใช้หลายขวด ทำให้ต้องแบกน้ำหนักขวดมากขึ้น  การพกกระติกน้ำขนาด 1 ลิตรหลายๆใบ สะดวกกว่ากระติกใบใหญ่ๆเพียงใบเดียว และยังเผื่อกระติกน้ำหาย หรือแตกรั่วอีกด้วย ถ้าน้ำหมดไปบางขวด และอยู่ในที่ๆมีน้ำจำกัด เช่นบนสันเขา พอเจอน้ำจำเป็นต้องสะสมไว้ให้เต็มที่เสมอ จึงควรเติมใส่กระติกที่ว่าง เพื่อที่ไม่ต้องนำไปปนกับน้ำต้มที่เหลืออยู่ในกระติกอื่น น้ำที่ยังไม่ได้ต้ม ควรเก็บไว้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย

ขวดน้ำที่ดี 

  • ต้องกันน้ำรั่วได้ 100% มิฉะนั้นเวลาตะแคง น้ำจะหกเลอะเทอะ ถ้ากระติกน้ำรั่ว มีวิธีแก้ไขชั่วคราวคือ ใช้เทป PTFE ที่ใช้พันเกลียวท่อประปา มาพันไว้ตรงเกลียวของกระติกน้ำ
  • กระติกใบที่ใช้กินน้ำเป็นประจำ ควรจะเทกินได้ โดยไม่ต้องสัมผัสกับริมฝีปาก จะได้ไม่สกปรกง่าย สามารถแบ่งน้ำให้คนอื่นกินได้ ซึ่งได้แก่ แบบมีฝาเปิดปิดสำหรับกินน้ำ แยกต่างหากจากฝาเกลียวปากกว้างสำหรับใช้เติมน้ำ สามารถเปิดฝากินน้ำได้ โดยไม่ต้องขันเกลียว จะกินน้ำได้สะดวกที่สุด
  • ขวดพลาสติก ควรเลือก สีขาวขุ่น หรือ สีขาวทึบแสง จะดีที่สุด จะมองเห็นสิ่งสกปรกได้ง่าย ส่วนกระติกน้ำใส เมื่อทิ้งให้โดนแสงแดดหลายๆวัน จะเกิดตะไคร่น้ำ
ขวดน้ำแบบใช้แล้วทิ้ง ที่ขายพร้อมน้ำ ตามร้านสะดวกซื้อ ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับใช้เดินป่า เพราะ นอกจากจะบาง บุบบี้ง่ายแล้ว ปากขวดยังกว้างเกินไป เวลาเทกิน ต้องใช้ปากสัมผัสกับปากขวดเพื่อป้องกันน้ำหกเลอะเทอะ ทำให้ปากขวดสกปรกได้ง่าย ขวดน้ำพวกนี้จะใช้เฉพาะเวลามีเหตุผลจำเป็น เช่น ต้องแบกน้ำปริมาณมากกว่าที่กระติกน้ำจะรองรับได้


วิธีสะพายกระติกน้ำที่ดี คือ เวลาเดินแล้วหิวน้ำ สามารถหยิบมากินได้เลย ไม่ต้องหยุดพักเพื่อหยิบน้ำ กระติกน้ำที่กินน้ำได้สะดวกที่สุด คือ ถุงน้ำขนาด 3 ลิตร ใส่ไว้ในเป้ ใช้สายยางดูด แต่ปัญหาของถุงน้ำคือ 

  • ดูดเพลิน กว่าจะรู้อีกทีน้ำหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องมีกระติกน้ำ ใส่น้ำสำรองไปอีกสักครึ่งลิตร เพื่อเวลาที่น้ำในถุงน้ำหมดแล้ว จะได้รู้ตัวและมีน้ำกินก่อนที่จะเดินไปถึงน้ำ ถึงแม้ว่าถุงน้ำบางยี่ห้อมี flow meter วัดปริมาตรน้ำที่ไหลผ่าน แต่ก็ควรมีกระติกน้ำไว้ตวงน้ำก่อนเทลงถุงน้ำ เพราะถุงน้ำวัดปริมาตรได้ไม่ชัดเจน
  • ทำความสะอาดยาก จึงเหมาะสำหรับใช้เฉพาะเวลาที่ต้องเดินป่าหลายวัน โดยเฉพาะเวลาที่ต้องขึ้นเขา ซึ่งต้องแบกน้ำไปจำนวนมาก 
  • เมื่อทิ้งไว้ไม่ได้ใช้นานๆหลายปี จะเสื่อมสภาพ ผมเคยใช้ถุงน้ำ deuter แล้วสารเคลือบด้านในสายยางลอก การซื้อสายยางใหม่ มีราคาไม่แตกต่างจากซื้อถุงน้ำใหม่ ส่วนถุงน้ำของ camelbak ก็กลายเป็นคราบขาวๆ ทั้งข้างในและข้างนอก เมื่อถุงน้ำเสื่อมแล้ว การซื้อถุงน้ำใหม่จะมีราคาแพง
ถุงน้ำที่ดีควรมีจุกครอบหลอดดูดกันเปื้อนยากันทาก กันเห็บ บางยี่ห้ออาจต้องซื้อเพิ่มเป็นอุปกรณ์เสริม

วิธีทำความสะอาดถุงน้ำ 


คือ ถอดชิ้นส่วนออก แล้วทำความสะอาดตามคำแนะนำของผู้ผลิต จึงควรเลือกยี่ห้อที่มีวิธีทำความสะอาด เขียนบอกไว้ชัดเจนบนเวปไซต์ โดยทั่วไป จะใช้ผ้าเช็ดตัวที่ไม่มีขนหลุดออกมา เช่นผ้าไมโครไฟเบอร์ เช็ดด้านในให้แห้ง ถ้าด้านในเปื้อน อาจล้างด้วยน้ำยาล้างจานเจือจางกับน้ำอุ่นโดยไม่ใช้แปรง เนื่องจากด้านในถุงน้ำมักจะมีสารเคลือบอยู่ เมื่อเช็ดด้านในจนเริ่มแห้งแล้ว จึงแขวนคว่ำไว้จนแห้งสนิท โดยใช้กระดาษ A4 ขยำแล้วยัดเข้าไปตรงปากถุงเพื่อให้อ้าออก แล้วเก็บในสภาพนั้น ถุงน้ำที่ทำความสะอาดดี สามารถใช้งานได้เป็นสิบปี ถ้ายังไม่มีเวลาทำความสะอาด ให้แช่ไว้ในตู้เย็นก่อน 

ถ้าไปกับหมู่คณะ ต้องระวังคนที่กลัวหนัก ไม่ค่อยพกน้ำไปมาก ทำให้ไปอดน้ำกลางทาง เดือดร้อนต้องไปขอแบ่งน้ำจากคนอื่น ซึ่งคนอื่นก็มีเหลือน้อยอยู่แล้ว คนที่แบกน้ำน้อยคือพวกอ่อนประสบการณ์ เราควรเตรียมน้ำไปเผื่อคนเหล่านี้ด้วย พอถึงเวลาเดือดร้อน ประสบการณ์จริงจะสอนเขาเอง

ภาชนะใส่น้ำ ที่นำมาใช้ซ้ำ อาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรคและเชื้อรา น้ำในลำธารบางแห่งที่เห็นว่าใสนั้น ลองปิดฝาทิ้งไว้ในค้างคืน จะเริ่มมีกลิ่นบูด ถ้าทิ้งไว้นานๆ จะมีคราบลื่นๆ เกาะตามผนังด้านใน คราบนั้นคือแบคทีเรีย เมื่อออกมาจากป่าแล้ว ควรจะทำความสะอาดที่ใส่น้ำทันที อย่ารอจนเป็นคราบ จะขัดออกยาก ถ้าเป็นกระติกน้ำ ให้ล้างด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วเปิดฝาคว่ำไว้จนแห้ง เก็บโดยไม่ต้องปิดฝา อย่าปิดฝาทิ้งไว้ทั้งที่เปียกๆ มิฉะนั้น อาจกลายเป็นตะไคร่น้ำ ถึงแม้จะปิดฝาสนิท ก็อาจจะมีตะไคร่ขึ้นตรงขอบยาง



วิธีประหยัดน้ำคือ พยายามให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตจากอาหารเป็นระยะ อย่ากินมือใหญ่มื้อเดียว เพราะ คาร์โบไฮเดรตส่วนเกิน จะถูกแปลงเป็น glycogen สะสมไว้ในกล้ามเนื้อ เพื่อดึงมาใช้ในเวลาที่ไม่ได้กินอาหาร แต่การเก็บ glycogen ต้องใช้น้ำถึง 3 กรัมต่อ glycogen 1 กรัม

การหาน้ำในป่า ต้องรู้จักภูมิประเทศ รู้ว่าลำห้วยอยู่ตรงไหน และห้วยนั้นมีน้ำตลอดทั้งปีหรือไม่ เพราะ ถ้าเป็นหุบตื้นๆ ลงไปแล้วอาจมีน้ำหรือไม่มีน้ำ, ถ้าเป็นหุบลึก ทางชัน อาจต้องใช้เวลาถึงครึ่งวัน กว่าจะลงไปเจอแค่ตาน้ำ ถ้าไม่รู้อะไรเลย หลักเบื้องต้นคือ ให้นึกว่าเส้นทางที่ผ่านมา จุดสุดท้ายที่เจอน้ำนั้น น้ำอยู่ฝั่งซ้ายหรือขวา ถ้าน้ำเคยอยู่ฝั่งไหน ลงไปฝั่งนั้นก็จะมีโอกาสเจอน้ำมากกว่า อีกวิธีหนึ่งคือ สังเกตุภูมิประเทศรอบตัว ว่าสันเขาและหุบเขาแถวนั้นวางตัวอย่างไร ถ้ามีสันเขาหรือหุบเขาขนานกันไปเป็นรูปนิ้วมือ แสดงว่ามีลำห้วยสายใหญ่ อยู่ที่ปลายนิ้วมือ และเป็นสายหลัก ซึ่งไหลเชื่อมต่อนิ้วมือทุกนิ้ว ในแนวตั้งฉาก ที่จริงแล้วระหว่างนิ้วมือก็มักจะมีน้ำ เพราะเป็นจุดต้นน้ำ แต่หน้าแล้งอาจจะไม่มีน้ำ ข้อควรระวังในการหาน้ำคือ อย่าตามเสียงไป เพราะเสียงลมพัดบนสันเขา จะคล้ายเสียงน้ำตก


มีหลายวิธีที่จะหาน้ำในป่าเช่น ตัดเถาวัลย์หัวท้าย (ถ้าตัดแค่ด้านเดียวน้ำจะไม่ไหลหรือไหลช้า) โดยตัดด้านล่างก่อนแล้วค่อยตัดด้านบน เถาวัลย์มีอยู่ทุกที่แม้แต่บนสันเขา แต่เถาวัลย์ไม่ใช่ว่าจะมีน้ำเสมอไป พยายามหาเถาวัลย์เนื้ออ่อน ลองใช้มือบีบดูแล้วเนื้อนิ่ม หรือใช้มีดเคาะดูแล้วเสียงไม่แน่น จะฟันขาดง่าย ไม่ต้องเหนื่อยฟันหลายรอบเหมือนเถาวัลย์เนื้อแข็ง เถาวัลย์ต้นเล็กจะมีน้ำน้อย ต้องตัดต้นใหญ่ขนาดมือกำไม่มิด จึงจะมีน้ำใหลมากพอกินได้ แต่ถ้าต้นใหญ่เกินไปจะตัดยาก พอมีน้ำหยดแล้ว ถ้ารองทิ้งไว้ทั้งคืน จะได้น้ำหลายลิตร นอกจากนี้ยังสามารถกินแกนกลางต้นกล้วย ที่เรียกว่า หยวกกล้วย จะมีน้ำช่วยให้ชุ่มคอ อาจจะใช้มีดขูดเป็นเส้นเล็กๆแล้วใช้มือบีบน้ำออกมา ส่วนไม้ไผ่ตามธรรมชาติ ช่วงกลางวันจะไม่มีน้ำอยู่ในปล้อง ต้นไผ่ที่มีน้ำในปล้อง อาจจะเป็นไม้ผุ จึงมีน้ำใหลเข้าไปขัง ซึ่งนอกจากจะหายากแล้ว ยังมีน้ำน้อย และน้ำข้างในก็ไม่สะอาด




  การหาน้ำจากต้นไผ่ จะทำตอนกลางคืน โดยตัดตรงปลายยอดซึ่งมีขนาดเล็กๆเท่าหลอด สังเกตุว่าตัดแล้วมีน้ำหยดออกมา แล้วใช้ถุงพลาสติกผูกไว้เพื่อรองน้ำ แล้วมาเก็บตอนเช้า ทำแค่ต้นเดียวจะได้น้ำประมาณ 1-2 ลิตร ถึงแม้ว่ากอหนึ่งจะมีหลายต้นก็ได้น้ำเท่าเดิม ถ้าอยากได้น้ำเพิ่มต้องปาดกอใหม่ ต้นไผ่ที่มีใบเยอะหรือต้นใหญ่จะได้น้ำเยอะ ถ้าไม่มีถุง ให้โค่นต้นไผ่ในช่วงเช้า 6-10 โมงเช้า ตัดลงมาต้นหนึ่ง แล้วเฉาะแต่ละปล้องจะเจอน้ำอยู่ข้างใน โดยก่อนจะโค่นให้ลองใช้มือเขย่าลำต้น แล้วฟังเสียงน้ำกระฉอกอยู่ในปล้อง สัตว์ป่ามักจะรู้ว่าน้ำอยู่ตรงไหน 

ดูคลิปการหาน้ำได้ที่นี่...

    ถ้าตามทางสัตว์ลงไปแล้วไม่เจอน้ำ ให้หาบริเวณที่แฉะๆ ถ้ามีผึ้งหรือผีเสื้อบินอยู่ก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้ ขุดลงไปประมาณ 1 ฟุต กว้าง 1 ฟุต รอประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีน้ำไหลออกมา ถ้าน้ำขุ่น ให้ใช้ผ้าหรือหญ้าทับลงไป จะช่วยกรองน้ำใสขึ้นมาอยู่ด้านบน ถ้าอยู่บนเขา แล้วเจอน้ำซึมหรือหยดออกมาจากซอกหิน ให้ตัดไม้ไผ่ทำเป็นท่อ แทงเข้าไปในทรายในแนวนอน จะมีน้ำไหลออกมาจากท่อ ถ้าไม่มีกรวยรองน้ำ ใช้ใบไม้มาทำกรวยได้ ถ้ายังไม่มีน้ำ ให้ตามน้ำลงไปเรื่อยๆ บางแห่งน้ำอาจมุดลงดิน ทางเลือกสุดท้ายถ้าไม่เจอน้ำ คือกินฉี่แทน 

ก่อนจะกินน้ำจากเถาวัลย์ ควรดูให้แน่ใจว่าไม่มีพิษ คือ น้ำที่ไหลออกมาจะต้องใส ไม่ขุ่น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส หยดใส่หลังมือแล้วไม่แสบมือ ลองชิมดูแล้วมีรสจืด ไม่แสบปาก เถาวัลย์บางชนิดมีน้ำสีขาวขุ่นหรือสีแดง ไม่ควรกิน

น้ำจากพืชถึงแม้ว่าน้ำจะใส แต่ไม่ใช่น้ำกลั่น ลองชิมดูจะมีรสฝาดๆ เพราะเจือปนด้วยฮอร์โมน ยา และ แร่ธาตุต่างๆ ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำจากพืช ถ้าต้องกินก็กินเท่าที่จำเป็น เพราะเราไม่รู้ว่าในน้ำจะมีสารพิษอะไรเจือปนอยู่ในปริมาณเท่าใด น้ำที่ปลอดภัยที่สุดคือ น้ำในลำห้วยที่ใสและไหล

ถ้าน้ำหมดระหว่างทาง ไม่ควรเสี่ยงเดินต่อไปยังจุดหมายที่ไม่รู้จัก เพราะอาจจะอดน้ำได้ แต่ควรตัดไปหาลำห้วยที่ใกล้ที่สุด เพื่อเติมน้ำ ถึงแม้จะต้องเดินไปคนละเส้นทางกับจุดหมาย อาจเสียเวลาทำให้ไปไม่ถึงจุดหมาย แต่ดีกว่าที่จะฝืนเดินทางต่อไป แล้วต้องอดน้ำกลางทาง จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ยกเว้นจะชำนาญเส้นทาง รู้แน่ชัดว่าระหว่างทางมีน้ำอยู่ตรงจุดไหน ใช้เวลาเดินอีกนานเท่าใดกว่าจะถึงน้ำ ถ้าอยู่บนยอดเขาที่ไม่มีลำธาร จำเป็นต้องหยุดตัดต้นไม้ที่มีน้ำ เพื่อสะสมน้ำให้มากพอ ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไป


ดูสินค้าของเราคลิก..>>>


ถ้าไม่มีกระติกน้ำ สามารถตัดกระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำได้ ถ้าจะหิ้วให้ใช้มีดพกเจาะรูร้อยสายสะพาย แล้วหาจุกอุดรูตรงปากเพื่อกันน้ำกระเด็นออกมา จุกอาจใช้ใบไม้ม้วนเป็นก้อน หรือ ทำจุกไม้ขนาดพอดีกับปากรู ถ้าไม่มีไม้ไผ่ สามารถนำท่อนไม้ตันมาเจาะรูตรงกลาง โดยใช้ถ่านไม้ที่ติดไฟแดงจี้ให้ลึกลงไปเรื่อยๆ

แก้วน้ำ สามารถทำได้โดยนำใบไม้มาม้วนเป็นรูปกรวย แล้วใช้มือบีบตรงก้นไว้ไม่ให้น้ำรั่ว หรือใช้มือวักกิน หรือใช้ปากจ่อกับน้ำโดยตรง

การต้มน้ำในภาชนะที่เผาไฟไม่ได้ อย่างเช่น ภาชนะที่ทำจากไม้ ให้นำก้อนหินไปเผาไฟ จนร้อน แล้วนำหินไปจุ่มในน้ำเพียงไม่กี่ก้อน น้ำจะเดือดได้ วิธีคีบหินคือ ใช้ไม้มีง่าม 2 อัน ข้อควรระวังในการนำก้อนหินมาเผาไฟคือ อย่าใช้ก้อนหินเปียก เพราะอาจจะระเบิดได้ 



ธรรมชาติของน้ำบริสุทธิ์ จะต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ถ้าน้ำในแหล่งน้ำ มีสี แสดงว่ามีสิ่งปนเปื้อน เช่น ถ้ามีสีขุ่นๆ อย่างสีขาวหรือสีเขียว อาจมีพวกแบคทีเรีย ถ้าสีน้ำตาล อาจมีเศษดินหรือสนิมเหล็ก ถ้ามีสีดำแสดงว่า มีซากพืชซากสัตว์ ถ้าน้ำใส แต่เมื่อโดนแสงเป็นสีฟ้าเขียว แสดงว่ามีแร่ธาตุอย่างพวกแคลเซียม 


>>>ตอนต่อไป...ที่พัก <<<


เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์
ดูสินค้าของเราคลิก..>>>

อ่านต่อบทความคู่มือเดินป่า...ตอนที่ 7 >>>>>>>>


คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5
.
คู่มือเดินป่าตอนที่5...https://goo.gl/5ACh2f
.
คู่มือเดินป่าตอนที่6...https://goo.gl/vx1qtc

ดูสินค้าของเราคลิก..>>>
คุณสามารถติดตามพูดคุยกับเราได้ที่>>>  เพจ"เอาตัวรอดในป่า"


By :อยู่อย่างเสือ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น