โพสต์แนะนำ

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 "เตรียมตัวก่อนเข้าป่า"

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 ทำไมต้องเดินป่า การเดินในป่า เป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ...

คู่มือเดินป่า...ตอนที่ 9 "เปลสนาม"

เปลสนาม


การนอนในป่าที่แย่ที่สุด คือการนอนที่พื้น เพราะตามพื้นเป็นที่อยู่ของสัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กๆอย่าง ทาก เห็บ มด ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ จนถึงสัตว์ใหญ่อย่าง งู เม่น เสือ หมี ฯลฯ ล้วนอยู่กับพื้นหมด ส่วนสัตว์ที่อยู่สูงอย่าง ค่าง ชะนี นก ฯลฯ จะไม่มารบกวนคน ที่นอนที่ปลอดจากสัตว์รบกวน จึงควรจะสูงจากพื้นตั้งแต่ระดับเอวขึ้นไป คนที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดในโลกก็ตาม ทั้งป่า ทะเล หรือแม้แต่ทะเลทราย เขาจะไม่นอนกับพื้นเลย เพราะ ทุกแห่งมีสัตว์อยู่ตามพื้น ตั้งแต่มด จนถึงงู แม้แต่ในทะเลทราย ก็ยังมีสัตว์เลื้อยคลานซ่อนอยู่ใต้ทราย แต่ที่เราเห็นคนชอบนอนเต็นท์คือ พวกขาดประสบการณ์ หรือไม่มีทางเลือก เพราะไม่มีต้นไม้ให้ผูกเปล แม้แต่การนอนบนแคร่ก็ยังไม่ปลอดภัยมากนัก เพราะเคยมีหนุ่มอีสานนอนอยู่บนกระท่อมนา แล้วมีงูจงอางตัวใหญ่ยาว 3.8 เมตร เลื้อยขึ้นมาบนกระท่อมแล้วกัดขาเขา




การนอนในป่าไม่ควรใช้เต็นท์เพราะ อาจมีสัตว์ป่าเดินผ่านมา ถ้าอยู่ในเต็นท์มองออกไปทางหน้าต่าง จะมองเห็นแค่บางมุม ไม่เห็นรอบๆ ยิ่งถ้าตอนนอน ยิ่งมองไม่เห็นอะไรเลย สัตว์ป่าอาจจะตะครุบเต็นท์ เคยมีหลายคนโดนหมีใช้เล็บตะปบผ้าเต็นท์จนขาด แล้วตบคนที่นอนหลับอยู่ในเต็นท์หลายครั้ง บางทีก็คาบคนออกมา หรือ ม้วนเต็นท์แล้วทำร้ายจากข้างนอก ถ้าเป็นช้าง อาจเหยียบเต็นท์หรือใช้งวงรวบขึ้นมาได้ทันที เคยมีคนโดนเหยียบเต็นท์มาแล้ว จะหนีก็ยาก เพราะว่าทางเข้าออกจำกัด กว่าจะรูดซิปก็ไม่ทันเสียแล้ว นอกจากนี้ยังเคยมีคนโดนงูจงอางฉกจนเต็นท์ทะลุมาแล้ว บางคนก็เจองูขดอยู่ใต้พื้นเต็นท์ ถึงแม้จะไม่มีสัตว์ และเต็นท์จะปิดซิปมิดชิด แต่ก็มีโอกาสพลาด เช่น กางเต็นท์เสร็จแล้วเผลอเปิดประตูทิ้งไว้ ทำให้ยุงหรือแมลงเข้าไป แล้วไล่ออกไม่ได้ เพราะประตูเต็นท์แคบ, บางทีแมงมุมก็ติดขากางเกงเข้าไป บางทีก่อนกางเต็นท์ วางเครื่องนอนไว้บนก้อนหินหรือกิ่งไม้ที่มีมดไต่อยู่ พอนำเครื่องนอนเข้าไปในเต็นท์ มดก็ติดเข้าไปด้วย พอมดเข้าไปแล้วก็เป็นงานใหญ่ เพราะ ขอบเต็นท์ยกสูง จะกวาดออกธรรมดาไม่ได้ แถมพื้นเต็นท์ที่ขายในท้องตลาด มักใช้สีดำ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม เวลาเจอยุงหรือมดก่อนนอน จะไม่มีอารมณ์ทำอะไรแล้ว ถ้าอยู่ในสถานที่ๆอากาศไม่เย็นจริงๆ ในเต็นท์จะร้อนกว่าข้างนอก การเคลื่อนไหวในเต็นท์จะทำให้เหงื่อออกง่าย ถ้าเปิดเต็นท์เพื่อไล่เจ้าพวกนี้ แมลงก็จะเข้ามาอีก แมลงหลายชนิดตามแสงไฟมา ถ้าเป็นยุงก็ตามกลิ่นคนเข้ามา บางทีลืมเปิดประตูเต็นท์ทิ้งไว้ พอฝนตก น้ำก็เข้าไปในเต็นท์ จะเทออกก็ลำบาก เพราะขอบเต็นท์ยกสูง ต้องทนนอนแช่น้ำอยู่อย่างนั้นทั้งคืน การนอนเต็นท์ยังต้องแบกอุปกรณ์เสริมจำนวนมาก เช่น ผ้าปูพื้นกันพื้นเต็นท์เปื้อนทำให้หลังจากเก็บเต็นท์แล้ว น้ำค้างหรือทรายติดเข้ามาในเต็นท์ ต้องมีแผ่นรองนอน เพราะถ้านอนกับพื้น หลังจะสัมผัสกับพื้นโดยตรง นอกจากจะเจ็บหลัง จากก้อนหินหรือกิ่่งไม้ตำ แล้วยังต้องหนาวเพราะ ความร้อนจากลำตัวถ่ายเทลงพื้นอย่างรวดเร็ว เมื่อนอนพื้นก็ต้องมีหมอนหนุนหัว บางคนทำงานนั่งโต๊ะมาก จึงนอนยืดตัวตรงบนพื้นแข็งไม่ได้ ก็ต้องมีหมอนรองน่องอีก ต่างจากเปล แค่ผ้าผืนเดียวนอนได้เลย เหล่านี้คือเหตุผลที่ต้องนอนเปล ยิ่งผูกเปลสูงๆยิ่งปลอดภัยจากสัตว์

เต็นท์เหมาะสำหรับสถานที่ๆอากาศหนาวจัด ซึ่งเปลนอนแล้วเย็นหลัง หรือในสถานที่ๆผูกเปลไม่ได้ เช่น บนดอยหัวโล้น หรือที่ไม่อนุญาติให้ผูกเปล เช่น ลานกางเต็นท์ในอุทยานแห่งชาติ ถ้าจะนอนเต็นท์จึงควรมีเต็นท์หรือเปลสนามสำรองไปด้วย เพราะผมเคยเจอในกรณีที่นอนเต็นท์ไม่ได้หลายครั้ง เนื่องจากมีมด ยุง หรือน้ำ เข้าไปข้างใน

เปลสนาม ควรเลือกความยาวมากกว่าส่วนสูงประมาณ 50-60 ซม จะนอนสบาย หรือวัดง่ายๆคือ ยกแขนขึ้นจนสุด แบมือออก เขย่งเท้าขึ้น  วัดตั้งแต่ปลายนิ้วมือ ลงมาจนถึงปลายนิ้วเท้า แล้วเผื่อออกไปอีก 10-20 ซม. เพื่อที่จะสามารถนอนยกแขนขึ้นได้ เปลที่สั้นเกินไป จะบีบไหล่และหลังงอมากเกินไป ทำให้นอนปวดไหล่และปวดหลัง แต่ถ้ายาวกว่านี้ก็ไม่เห็นความแตกต่างมากนัก แถมยังเกะกะเวลากางและเก็บ จะใช้สองมือรวบได้ไม่หมด ทำให้ผ้าหรือเชือกมักจะตกพื้นเปื้อนดินและน้ำ


ปัญหาของมุ้งแบบมีซิปคือ เข้าออกลำบาก หากมีสัตว์มาอาจจะหนีไม่ทัน มุ้งอีกแบบที่เหมาะสำหรับนอนในป่า คือ แยกอิสระจากเปล โดยตัดมุ้งให้มีขนาดเท่ากับเปล แล้วตรงหัวท้ายทำเป็นหูร้อยเชือกแบบรูดได้ นำมารัดและรูดเข้ากับหัวเปลและท้ายเปล ส่วนด้านข้างเปล ให้ห้อยมุ้งลงมา แล้วเย็บถุงตาข่ายสี่มุม เพื่อใส่ก้อนหินถ่วง ป้องกันมุ้งปลิว

ปัญหาของเปลสนามคือ
  • เย็นหลัง เนื่องจาก ลมและน้ำสามารถผ่านได้ ลมพัดทะลุผ่านเนื้อผ้าเข้ามาจากข้างล่าง ถงนอนจะช่วยได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะมีถุงนอน แต่ด้านล่างแฟบ ทำให้ความสามารถในการกันหนาวของถุงนอนลดลง เวลานอนเปลจึงต้องใช้ถุงนอนหนากว่าเวลานอนเต็นท์ที่มีแผ่นรองนอน
  • เวลาพายฝนุแรงๆ ลมมาจากทุกทิศทาง ฟลายชีทด้านหัวและท้ายเปลที่เปิดโล่ง จะเปิดช่องให้ละอองฝนเข้ามาทำให้เปลเปียกได้ แก้ไขด้วยการหุบปีกฟลายชีทลงมา
  • เวลาฝนตกหนัก ติดต่อกันหลายๆชั่วโมง น้ำจะไหลลงมาตามสายเปล ทำให้เปลเปียก ยกเว้นถ้าฝนตกเบาๆ ถึงแม้จะตกติดต่อกันทั้งคืน น้ำจะไม่ไหลมาถึงเปล วิธีแก้ไขน้ำไหลมาตามสายเปลเบื้องต้นคือ ใช้เชือกหรือผ้ามาผูกไว้ตามสายเปลเพื่อดักน้ำ ถ้าฝนตกหนักติดต่อกันนานๆ ผูกไว้ 2-3 จุดก็จะป้องกันได้ ถ้าน้ำผ่านจดุแรกมาได้ก็จะมาติดจุดต่อไป ส่วนถุงพลาสติกยังสู้ผ้าไม่ได้ ไม่ควรใช้เหล็กรูปตัว S มาคั่นกลาง เพราะเหล็กไม่แข็งแรงพอ จะยืดออกง่าย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะหยุดน้ำไว้ได้ แต่ปัญหาของการใช้เชือกหรือผ้ามาดักน้ำคือ ยุ่งยาก และเชือกผูกเปลบางส่วนก็ยังคงเปียก เวลาเก็บจะทำให้เปลเปียกไปด้วย วิธีแก้ไขที่สะดวกที่สุดคือ ใช้วงแหวนหรือคาราบิเนอร์ (carabiner) มาเป็นตัวดักน้ำแทน


ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 20kN เทียบเป็นน้ำหนักขณะหยุดนิ่งได้ประมาณ 2000 กิโลกรัม ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีค่ามากขนาดนี้ เพราะ ถ้ามีการเคลื่อนไหวที่ระยะทางมาเกี่ยวข้อง อย่างเช่น ตกเขา แรงดึงจะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง แต่ในการผูกเปล จะไม่ต้องกังวลมากขนาดนั้น เพราะสายเปลจะกระจายน้ำหนักไปฝั่งละครึ่ง และการขย่มเปลไม่ได้เกิดระยะทางมากนัก เราจึงประมาณได้ว่า สายเปลแต่ละข้าง รับน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักตัวคนหารสอง การผูกเปลจะใช้คาราบิเนอร์อลูมิเนียม ที่ไม่มียี่ห้อและไม่บอกแรงดึงก็ได้ เพราะคาราบิเนอร์อลูมิเนียมที่รับน้ำหนักไม่ไหว จะเริ่มจากเสียรูปก่อน เช่น อ้าออก หรือ ยืดออก (โดยวัดตอนรับน้ำหนัก เพราะถ้าเอาน้ำหนักออกแล้ว มันอาจจะหดกลับได้) ถ้ายังรับแรงมากขึ้นไปอีก จึงจะขาดออกจากกัน หากทดลองนำมาผูกเปล ลองขย่มดู และนอนไปนานๆ แล้วไม่เสียรูป ถือว่าใช้ได้ แต่จากที่ผมทดลองมา คาราบิเนอร์ไม่มียี่ห้อของจีนที่ไม่บอกสเปค นำมาผูกเปลแล้วจะรับน้ำหนักคนไม่ได้ จะอ้าออก การเลือกคาราบิเนอร์ ควรเลือกทรงตัว D จะแข็งแรงกว่าทรงตัว 0 เพราะการรับน้ำหนักของทรงตัว D จะตกอยู่ตรงแกนตรงเป็นหลัก ในขณะที่การรับน้ำหนักของทรงตัว 0 จะกระจายไปทั้ง 2 ข้าง ซึ่งข้างที่มีขาเปิดปิดนี้เองที่เป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อขาเปิดปิดไม่มีขอเกี่ยวช่วยรับแรงดึง หรือเปิดขาอ้าไว้โดยไม่เกี่ยว จะทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักจะลดลงไปเกินครึ่ง ตัวล็อกแบบแกนที่มีเกลียวจะแข็งแรงที่สุด แต่จะหนักขึ้น ส่วนแบบใช้ลวดล็อก (ตามรูป) จะแข็งแรงน้อยที่สุดแต่เบาที่สุด แบบลวดล็อกจึงเหมาะสำหรับใช้ผูกเปล


เชือกผูกเปลสนามกับต้นไม้ ควรใช้เชือกถักแบน จะยึดติดกับเสาได้ดีกว่า เชือกกลมจะแนบไม่สนิท ทำให้ลื่นง่าย เชือกแบนหน้ากว้าง 15mm เพียงพอที่จะรับน้ำหนักคนนอนเปลได้ถึง 1-2 คนโดยไม่ขาด

ถ้าไม่มีต้นไม้ให้ผูกเปล สามารถผูกกับก้อนหินใหญ่ได้

วิธีเลือกต้นไม้ที่จะผูกเปลคือ ทดลองขย่มดูหลายๆรอบ ต้นไม้ที่ยังไม่ตาย มักจะมีความยืดหยุ่น ทดลองผูกเปลแล้วลองนอนดู หากเริ่มนอนแล้วต้นไม้ไม่หักลงมาแสดงว่าใช้ได้ ถึงแม้ว่าจะนอนไปนานๆก็จะไม่หักลงมา

ก่อนจะผูกเปล ควรกางฟลายชีทก่อน เพราะ นอกจากจะช่วยกันฝนเปียกเปลแล้ว ยังใช้เชือกที่ขึงกลางฟลายชีทแขวนเปลที่ยังไม่ได้ผูกได้อีกด้วย เพราะ เวลาคลี่เปลออกมา เปลจะยาวมาก พอผูกเปลด้านหนึ่งกับต้นไม้ อีกด้านที่ยังไม่ได้ผูก มักจะร่วงไปกองอยู่กับพื้น ทำให้เปลสกปรก ถึงแม้จะนำเปลมาแขวนคอไว้ก็มีโอกาสร่วงได้ แต่ถ้าแขวนเปลไว้กับเชือก จะไม่ค่อยมีปัญหา เวลาเก็บเปลก็เช่นกัน ควรเก็บฟลายชีททีหลัง

ถ้าไม่มีเปลสนาม อย่านอนกับพื้น ถ้าไม่มีที่นอนตามธรรมชาติที่อยู่สูง เช่น บนก้อนหินใหญ่ ให้ทำแคร่ โดยตัดไม้สดตรงๆ หลายๆท่อนมาวางเรียงกันบนคานสองฝั่ง แล้วใช้เชือกมัดไม้ไว้กับคาน ถ้าเป็นแคร่บนต้นไม้เรียกว่า ห้าง การทำห้างบนต้นไม้ ต้องเลือกต้นไม้ที่มีกิ่งหรือมีเถาวัลย์ที่พอจะปีนขึ้นไปได้ ถ้าเป็นต้นตรงๆก็ต้องทำบ้นไดขึ้นไป ส่วนด้านบนต้องมีกิ่งที่จะวางคานได้ และมีกิ่งอีกชั้นให้ทำหลังคากันฝนได้ด้วย

การทำเปลจากวัสดุธรรมชาติ ทำได้หลายวิธี เช่น ผ่าไม้ไผ่ให้เป็นซี่ๆเหลือปลายติดกัน แล้วกางออกเป็นเปล วิธีการคือ ใช้ไม้ไผ่สดที่ยาวกว่าความยาวของลำตัว วัดความยาวตรงกลางส่วนที่จะใช้นอน แล้วใช้มีดผ่าไม้ไผ่ส่วนนั้นออกครึ่งลำ แต่ยังคงเหลือปลายหัวท้ายไว้ไม่ต้องตัดออก แล้วกรีดไม้ไผ่ส่วนที่เหลืออีกครึ่งลำ ออกเป็นซี่ๆ กางออกเป็นเปลได้ แล้วใช้เถาวัลย์ผูกปลายห้วท้ายไว้กับต้นไม้ นอกจากไม้ไผ่แล้ว ยังสามารถนำเชือกที่หาจากวัสดุธรรมขาติแถวนั้น อย่างเช่น เถาวัลย์ หรือ เปลือกไม้ยาวๆเหนียวๆ มารวมกันหลายๆเส้นเป็นตาข่ายแล้วกางออกมา ก็กลายเป็นเปลได้ ถ้านอนแล้วเจ็บหลังก็หาใบไม้มาปูทับอีกชั้น ก่อนจะตัดใบไม้มาใช้ ควรดูให้ดีก่อนว่า ไม่มีตัวอะไรเกาะอยู่ตามใบไม้
.

เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์

อ่านต่อบทความคู่มือเดินป่า...ตอนที่ 9>>>>>>>>

คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5
.
คู่มือเดินป่าตอนที่5...https://goo.gl/5ACh2f
.
คู่มือเดินป่าตอนที่6...https://goo.gl/vx1qtc

คุณสามารถติดตามพูดคุยกับเราได้ที่>>>  เพจ"เอาตัวรอดในป่า"


By :อยู่อย่างเสือ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น