โพสต์แนะนำ

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 "เตรียมตัวก่อนเข้าป่า"

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 ทำไมต้องเดินป่า การเดินในป่า เป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ...

คู่มือเดินป่า..ตอนที่ 5 "วิธีทำน้ำให้สะอาด"

คู่มือเดินป่า..ตอนที่ 5


>>วิธีทำน้ำให้สะอาด<<

  • กรองด้วยผ้าขาวเย็บติดกับลวดวงกลม เหมือนที่ใช้กรองชาตามร้านกาแฟ แต่วงเล็กกว่า พอครอบปากกระติกน้ำได้ เพื่อจะได้ไม่เกะกะเวลาแบก หรือจะไม่ต้องมีลวดวงกลม ใช้เชือกร้อยแทนเพื่อรัดกับปากขวด จะยิ่งพกสะดวกขึ้น ผ้าขาวใช้กรองเบื้องต้นเพื่อกำจัดเศษใบไม้ พยาธิและปลิง ออกไปได้ ควรทำทุกครั้ง วิธีนี้มีข้อดีคือ ทำความสะอาดผ้าได้ง่าย ผ้าที่กรองน้ำได้ดี คือผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่เนื้อไม่แน่นมาก น้ำจะไหลผ่านได้สะดวก ผ้าที่เนื้อแน่นเกินไปทำให้น้ำไหลผ่านได้ยาก ส่วนผ้าฝ้ายไม่ค่อยเหมาะเพราะมีขน ทำให้เศษผงเกาะติดง่าย

  • ใช้เครื่องกรองแบบมีใส้ ถึงแม้จะกรองได้ดีที่สุด แต่ใหญ่เทอะทะ และ ยุ่งยาก ต้องจำว่าถึงเวลาเปลี่ยนใส้กรองเมื่อใด ที่สำคัญคือ ใส้กรอง ไม่สามารถกรองเชื้อโรคได้หมด เพราะเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กที่สุด คือเชื้อไวรัส อาจมีขนาดเล็กที่สุดถึง 0.01 ไมครอน อย่างเช่นไวรัสบี มีขนาด 0.042 ไมครอน ในขณะที่ใส้กรอง จะกรองได้อย่างมากแค่ 0.1 ไมครอน เครื่องกรองที่กำจัดเชื้อโรคได้จริง คือ แบบ reverse osmosis ซึ่งกรองได้ละเอียดถึง 0.0005 ไมครอน แต่ต้องใช้ไฟฟ้าอัดแรงดันให้น้ำผ่านใส้กรอง จึงมีใช้เฉพาะตามบ้าน แต่ข้อเสียของ reverse osmosis คือจะกรองแร่ธาตุออกไปด้วย การดื่มน้ำที่ไม่มีแร่ธาตุจะทำให้คนเป็นโรคขาดสารอารได้ง่าย
  • ต้ม เหมาะสำหรับช่วงที่มีเวลาว่าง เนื่องจากต้มแล้วต้องทิ้งไว้ให้น้ำเย็น แต่ถ้ารีบต้องเทใส่กระติกน้ำแล้วนำไปแช่ในลำธารจนเย็น ถึงแม้ว่ากระติกน้ำที่ทำจากโลหะพวกอลูมิเนียมหรือสเตนเลสจะระบาย ความร้อนได้เร็ว แต่ปัญหาเรื่องหนัก หาซื้อยาก และ โลหะใช้ไปสักพักจะมีคราบเกาะด้านใน  กระติกน้ำพลาสติกกำจัดปัญหาเหล่านี้ไปได้ แต่ต้องทำจากวัสดุที่ทนน้ำเดือดได้ อย่างเช่น polypropylene เขียนย่อๆใต้ขวดว่า PP ซึ่งมีจุดหลอมเหลวสูงถึง 120 องศาเซลเซียส ในขณะที่น้ำเดือดมีอุณหภูมิไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นกระติกน้ำอลูมิเนียมที่เคลือบพลาสติกไว้ด้านใน ต้องรู้ว่าเป็นพลาสติกชนิดใด มีจุดหลอมเหลวเท่าใด ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ถุงพลาสติกใสที่เรียกว่าถุงร้อน ทำจาก polypropylene สามารถนำมาใส่น้ำร้อนได้ ส่วนขวดที่ทำจากวัสดุอื่น จะสู้ขวด PP ไม่ได้ เพราะ PP จะแข็ง เบา ยืดหยุ่นได้ดี ราคาถูก และปลอดภัย ส่วนขวดที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น ขวด PET หรือ polycarbonate จะแข็งและใส แต่ถ้าบางจะเบาแต่บุบบี้ง่าย จึงต้องทำให้หนา ทำให้หนักกว่า PP ขวดพวกนี้จะใช้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลที่ต้องใช้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาต้องใช้จะรู้เอง เช่น ต้องการภาชนะที่ใสเหมือนแก้วเพื่อให้มองเห็นข้างใน แต่น้ำหนักเบากว่าแก้ว ส่วนเรื่องที่ลือกันว่า ขวดเหล่านี้มีสารเคมีพวก BPA หรือ phthalates ละลายนั้น แท้จริงแล้วสารเหล่านี้ไม่มีอันตราย เพราะมีปริมาณน้อย เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกแปลงที่ตับแล้วขับออกทางปัสสาวะ

  • หยดไอโอดีนลงไปในน้ำ แล้วทิ้งไว้สักพัก เชื้อโรคในน้ำจะตายหมด ไอโอดีนดีต่อสุขภาพของทุกคน ยกเว้นคนที่แพ้ไอโอดีน จะใช้ไม่ได้ ต้องไปรักษาโรคให้หายก่อน ส่วนคนที่เป็นโรคไทรอยด์ต้องรู้วิธีใช้ ส่วนคลอรีนไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรค เพราะคลอรีนปริมาณมากเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ไอโอดีนมีหลายรูปแบบ แต่แบบที่พกพาง่ายที่สุดคือ สารละลายอิ่มตัวของ potassium iodide โดยซื้อ potassium iodide แบบกินได้ จากร้านขายสารเคมี เช่น วิทยาศรม นำมาละลายน้ำจนอิ่มตัวจะได้ potassium iodide 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ml(มิลลิลิตร) มีไอโอดีน 760 มิลลิกรัม แล้วแบ่งสารละลายที่ได้ ใส่ขวดพลาสติกที่ทำจาก polypropylene(PP) จะทน potassium iodide ได้ เลือกแบบที่มี dropper หยดออกมาทีละหยดได้ ทดลองหยดสารละลายในแนวดิ่ง (ถ้าหยดแนวนอนจะได้ไม่เท่ากัน) ดูว่าใน 1 ml มีกี่หยด แล้วคำนวณว่าใน 1 หยดมีไอโอดีนกี่มิลลิกรัม เวลาใช้ให้หยดไอโอดีนประมาณ 35 มิลลิกรัม ต่อน้ำดื่ม 1 ลิตร คนแล้วทิ้งไว้ 30 นาที เชื้อโรคจะตายไปประมาณ 99% เชื้อโรคที่เหลืออยู่ถือว่าน้อยมาก จนไม่สามารถทำอันตรายคนได้ ถึงแม้เชื้อโรคจะเข้าไปในร่างกายบ้าง แต่ก็มีไอโอดีนในน้ำตามเข้าไปฆ่า ยิ่งหยดทิ้งไว้นานกว่านี้ เชื้อโรคจะตายมากขึ้นไปอีก โดยเมื่อเพิ่มเวลาขึ้นเท่าตัว เชื้อโรคจะตายเพิ่มเป็นจุดทศนิยมอีก 1 ตำแหน่ง เช่น ทิ้งไว้นาน 1 ชั่วโมง เชื้อโรคจะตายเพิ่มเป็น 99.9%, 2 ชั่วโมง 99.99% ถ้ามีเวลามากหรือน้อยกว่านี้ สามารถปรับปริมาณหยดได้ โดยใช้สูตร จำนวนไอโอดีนเป็นมิลลิกรัม x เวลาเป็นนาที / ปริมาตรน้ำดื่มเป็นลิตร = 1000 เช่นถ้ารีบ ให้ใส่ไอโอดีนเพิ่มขึ้นเป็น 100 มิลลิกรัม คนแล้วทิ้งไว้ 10 นาที ( 100 มิลลิกรัม x 10 นาที / น้ำ 1 ลิตร = 1000) สามารถดื่มได้เลย ถ้าน้ำครึ่งลิตรก็ทิ้งไว้แค่ 5 นาทีพอ ข้อควรระวังในการใช้ไอโอดีนคือ จะไปขับซิลิเนียมออก การหยดไอโอดีนแต่ละวันจึงไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม การกินไอโอดีนติดต่อกันนานๆ ต้องกินซิลิเนียมควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดซิลิเนียมจนเป็นโรคคอพอก (ไทรอยด์ต่ำ) จากที่ผมทดสอบมากับคนพบว่า การกินไอโอดีน 50 มิลลิกรัมต่อซิลิเนียม 200 ไมโครกรัม จะป้องกันโรคคอพอกได้ นอกจากนี้ยังมีบางคน(น้อยมาก)เกิดอาการแพ้ เราจึงควรทดสอบกินไอโอดีน ก่อนใช้งานจริงในป่า โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆ เพื่อดูว่ากินแล้วมีอาการผิดปกติหรือไม่
  • รังสียูวี เครื่องฉายรังสียูวีใส่ถ่านฆ่าเชื้อโรคได้เกือบหมดภายในเวลาเพียง 1 นาที แต่ถ่านหมดง่าย และไม่ทน
  • ถ้าไม่มีอะไรกรองน้ำเลย ให้หาจุดที่น้ำใสและไหล หันปากขวดไปทางปลายน้ำ แล้วกดปากขวดให้จมอยู่ใต้น้ำ เพื่อที่จะไม่มีฝุ่นบนผิวน้ำเข้าไปในขวด ฝุ่นผงมักจะอยู่แค่บนผิวน้ำ แต่ไม่ควรกดปากขวดใกล้กับพื้นลำธารมากเกินไป เพราะสิ่งสกปรกต่างๆรวมทั้งพยาธิ มักจะจมอยู่ใกล้พื้นลำธาร แค่กวนน้ำเพียงเล็กน้อยก็จะฟุ้งขึ้นมา

วิธีทำให้น้ำสะอาดที่เหมาะสมที่สุด ควรเริ่มต้นจาก กรองด้วยผ้าขาว เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม ถ้ากรองแล้ว ยังมีฝุ่นผง ทิ้งไว้ครึ่งวันหรือข้ามคืนจะตกตะกอน แล้วจึงนำน้ำใสมากรองอีกรอบ ส่วนตะกอนทิ้งไป ถึงแม้จะอยู่ในป่าที่มีสัตว์ และมีเชื้อมาลาเรีย น้ำที่ใสและไหลแรงพอสมควร จะค่อนข้างปลอดภัย ถ้าจำเป็นจริงๆ สามารถกรองด้วยผ้าแล้วดื่มได้เลย โดยไม่ต้องต้ม แต่ถ้ามีเวลาว่างควรจะต้มเสมอ เพื่อความปลอดภัย 100% แต่ถ้าเจอแหล่งน้ำต้องสงสัย เช่น น้ำไหลแรงแต่ขุ่น ยังไม่ควรดื่ม เพราะอาจมีเชื้อโรค ควรต้มก่อนดื่มเสมอ แต่ถ้าเป็นน้ำไหลเอื่อยๆ หรือน้ำขัง อาจมีพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินด้วย จึงไม่เหมาะที่จะนำมาต้ม วิธีที่เหมาะสมที่สุด กรองด้วยผ้าแล้วหยดไอโอดีนลงไปเพื่อฆ่าเชื้อโรค


หลังกินข้าวเสร็จใหม่ๆภายใน 2-3 ชม. (จะมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหาร) ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากในครั้งเดียว มิฉะนั้นจะทำให้อาหารไม่ย่อย มีอาการท้องอืดจุกเสียดแน่น เพราะน้ำที่มากเกินไปจะไปเจือจางกรดในกะเพาะ ซึ่งอาการหิวน้ำ มักจะพบบ่อยหลังจากอาหารเช้า แล้วออกเดินทันที เนื่องจากเมื่อตื่นมาตอนเช้า ร่างกายขับน้ำส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะ บวกกับอาหารเช้าที่มีรสเค็มทำให้หิวน้ำ และการออกเดินทำให้เสียเหงื่อมาก จึงต้องดื่มน้ำมากในขณะที่ยังมีอาหารเก่าอยู่เต็มท้อง วิธีป้องกันการหิวน้ำหลังอาหารเช้าคือ ดื่มน้ำสัก 1-2 แก้ว (ประมาณไม่เกินครึ่งลิตร) ก่อนอาหารเช้าสักครึ่งถึง 1 ชั่วโมง การดื่มน้ำที่ดีที่สุดคือ ดื่มระหว่างมื้อ แต่ถ้ายังมีอาหารอยู่ในท้อง ให้ค่อยๆจิบไปเท่าที่หิว การดื่มน้ำปริมาณมากจะทำได้ในตอนท้องว่าง แต่ก็ต้องระวังโรคน้ำเกิน



เราทุกคนรู้จักโรคขาดน้ำ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักโรคน้ำเกิน ซึ่งเป็นโรคที่คนเดินป่าจะได้พบทุกวัน ในช่วงบ่ายๆหลังจากเสียเหงื่อมาหลายชั่วโมง และไม่ได้กินอะไรเค็มๆเข้าไปเพิ่ม ทั้งโซเดียมและน้ำจะสูญเสียออกทางเหงื่อในปริมาณมาก ทำให้ปริมาณโซเดียมและน้ำที่สะสมในร่างกายลดลง  แต่สังเกตุว่าจะไม่หิวน้ำ ทั้งๆที่อากาศร้อนและเสียเหงื่ออยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะปริมาณโซเดียมที่สะสมในร่างกาย จะแปรผันกับปริมาณน้ำที่สะสมในร่างกาย ถ้ากินเค็มมาก ร่างกายก็จะสะสมน้ำมาก ถ้ากินเค็มมากกว่าน้ำ ร่างกายจะขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าปริมาณโซเดียมที่สะสมในร่างกายต่ำ น้ำที่ดื่มเข้าไปจะฉี่ออกมาหมด เพื่อปรับความเข้มข้นของโซเดียมในเลือดให้อยู่ที่ประมาณ 140 mmol/L ใครที่ฝืนดื่มน้ำเข้าไปทั้งที่ไม่หิว โดยเฉพาะเมื่อดื่มน้ำมากเกินไปและเร็วเกินไป (เกิน 1.5 ลิตรต่อชั่วโมง) จนฉี่ออกไม่ทัน จะทำน้ำสะสมในร่างกาย จนทำให้ระดับโซเดียมในเลือดต่ำลง ถ้าต่ำกว่า 135 mmol/L ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า hyponatremia จะเริ่มออกอาการคล้ายโรคขาดน้ำ เริ่มด้วยอาการ ปวดหัว คลื่นใส้อาเจียน อ่อนเพลีย สับสนขาดสมาธิ ความไวต่อสิ่งรอบตัวลดลง พอต่ำกว่า 130 mmol/L จะเริ่มมีอาการทางปราสาทเหมือนคนเมา เช่น เดินเป๋ไปเป๋มา ไม่ค่อยพูด ตอบสนองช้า ถามแล้วไม่ตอบ พูดไม่รู้เรื่อง จำใครไม่ได้ เพ้อ คลุ้มคลั่ง บางคนถึงกับชัก และหมดสติ เคยมีคนช็อคหมดสติไปเป็นชั่วโมงจนถึงหลายวัน เพราะโซเดียมในเลือดต่ำ คนที่หมดสติพอตื่นขึ้นมาแล้ว ยังอัดน้ำเข้าไปอีก ก็จะสมองบวมน้ำและน้ำท่วมปอดถึงตาย เพราะเมื่อระดับโซเดียมในเลือดต่ำกว่า 115 mmol/L น้ำจะไหลจากเส้นเลือดเข้าไปในเซล ทำให้เซลบวมน้ำ ทำให้ร่างกายสะสมน้ำ สังเกตุว่า มือและแขนจะบวมเมื่อเทียบกับสายรัดนาฬิกา น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลายๆกิโลกรัม ตามปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป เคยมีคนความจำเสื่อม เพียงเพราะดื่มน้ำแค่ครึ่งลิตรในขณะที่โซเดียมในเลือดต่ำ คนปกติที่กินข้าวเช้ากลางวันเย็น จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขาดโซเดียม ถึงแม้ว่าโซเดียมที่สูญเสียไปทางเหงื่อ จะมากกว่าที่ได้รับจากอาหารรวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ แต่คนที่ทำชีวิตให้ผิดปกติ เช่น ไม่กินข้าวเช้า หรือ ไม่ชอบกินเค็ม หรือ กินยาลดความดันพวก thiazide ซึ่งยาไปขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ หรือยาแก้อักเสบพวก non-steroid เช่น aspirin, ibuprofen รวมไปถึงพวกยาแก้ปวดอย่าง acetaminophen (ไทลินอล) ยาเหล่านี้จะไปแทรกแซงการทำงานของไต คนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ คนปกติในเวลาปกติที่ไม่ได้เสียเหงื่อมาก การดื่มน้ำหลายๆลิตร ติดต่อกันในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็เกิดโรคน้ำเกินได้เช่นกัน การรักษาโรคน้ำเกินเบื้องต้น ถ้ายังเป็นไม่มาก คือ กินผงเกลือแร่เสริม จะทำให้อาการป่วยหายไป หรืออย่างน้อยที่สุดคือกินอะไรเค็มๆ สังเกตุง่ายๆว่าคนปกติ พอกินเค็มๆแล้วจะหิวน้ำ ต้องดื่มน้ำในปริมาณมาก การกินเค็มจึงต้องคำนวณเผื่อน้ำที่เหลืออยู่ด้วย ข้อควรระวังก่อนรักษาโรคน้ำเกินคือ อย่าให้น้ำเปล่าเพิ่ม แม้แต่น้ำเกลือไม่เข้มข้นที่ให้ทางสายยางก็มีอันตราย

สำหรับคนที่หมดสติแล้ว จะต้องใช้เวลารักษาหลายวัน เพราะถ้าโซเดียมในเลือดขึ้นเร็วเกินไป จะทำให้สมองเสื่อมได้ ในช่วงที่นอนพักรักษาตัวจะเดินไม่ได้ จำอะไรไม่ได้ และคลุ้มคลั่งเพราะโซเดียมในเลือดต่ำ จะเห็นว่า ป้องกันไว้ล่วงหน้าดีที่สุด โดยสังเกตว่าเมื่อร่างกายขาดโซเดียม จะมีอาการตอนนอน คือ ตื่นมาฉี่กลางดึก ฉี่ในปริมาณมาก (โดยที่ไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำ เพราะถ้าดื่มนมมาก อาจตื่นมาฉี่เพราะแคลเซียมเกิน) และอาการนอนหลับๆตื่นๆ (แต่ถ้าตื่นมาแล้วหลับยากด้วย แสดงว่าขาดแมกนีเซียม) ซึ่งเมื่อกินน้ำปลาหรือเกลือเม็ดก่อนนอน ในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว อาการเหล่านี้จะหายไป (ปริมาณที่เหมาะสมจะแล้วแต่ว่าขาดรุนแรงเพียงใด โดยปกติจะเริ่มที่น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะก่อนนอน) แน่นอนว่าถึงแม้โซเดียมจะเกี่ยวกับความเป็นความตาย แต่การกินเค็มมากเกินไป ก็มีผลเสีย เพราะจะไปขับแคลเซียมออก แต่การกินเค็มเพิ่ม ไม่ได้ทำให้เป็นโรคไต เพราะ โรคไตเกิดจากสาเหตุอื่น

>>>ตอนต่อไป...วิธีทำน้ำให้สะอาด <<<


เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์
ดูสินค้าของเราคลิก..>>>

อ่านต่อบทความคู่มือเดินป่า...ตอนที่ 6>>>>>>>>

คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5

ดูสินค้าของเราคลิก..>>>
คุณสามารถติดตามพูดคุยกับเราได้ที่>>>  เพจ"เอาตัวรอดในป่า"


By :อยู่อย่างเสือ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น