คู่มือเดินป่าตอนที่ 13....ไฟฉายเดินป่า
ไฟฉายคาดหัว ได้ผ่านการพิสูจน์ด้วยการเวลาแล้วว่า เป็นไฟฉายที่ดีที่สุดสำหรับใช้งานกลางแจ้ง เพราะ ช่วยให้มือว่างทั้ง 2 ข้าง เวลาไม่ใช้สามารถแขวนคอไว้ได้ ไม่ต้องพกใส่กระเป๋าให้เสี่ยงตกหาย ส่วนไฟฉายแบบแท่งใช้ไม่สะดวกเลย เพราะใช้มือถือได้อย่างเดียว จะเหลือมือเพียงข้างเดียว เวลาที่ต้องหยิบของด้วยสองมือเช่น ตักน้ำใส่หม้อ จะต้องใช้ปากคีบไฟฉายจะทำให้ลำบากมาก ใช้เป็นไฟฉายสำรองก็ไม่ได้ ผมเคยเจอ เพื่อนร่วมทางขอยืมไฟฉายคาดหัวไปใช้ แล้วตัวเองเหลือแต่ไฟฉายแบบมือถือ ทำให้ทำงานลำบากมาก
แบบแรกคือ ไฟฉายสำหรับใช้เวลาอยู่ที่พัก จัดข้าวจัดของ ไฟฉายตัวนี้จะใช้งานบ่อยที่สุด จึงควรเป็นหลอดประหยัดไฟ เช่นหลอด led เพื่อที่จะใช้ได้นานๆ และการทำงานระยะใกล้ ต้องใช้ไฟที่มีมุมกว้างพอสมควร ไม่ควรใช้ไฟฉายมุมแคบ เพราะจะมีไฟพุ่งเป็นจุด ซึ่งเหมาะสำหรับใช้มองสิ่งที่อยู่ไกลๆ แต่ถ้าใช้ระยะใกล้จะต้องขยับหัวบ่อย ไฟฉายใช้งานระยะใกล้จะต้องใช้บ่อย จึงควรจะใช้ง่าย แค่กดเปิดปิดอย่างเดียว ไม่มีไฟแดง ไฟหรี่ ไฟกระพริบ มิฉะนั้นจะต้องกดหลายรอบ กว่าจะได้ไฟที่ต้องการ ใครที่เคยใช้ไฟฉายมาหลายแบบ จะพบว่าไฟฉายแบบนี้ถูกใจที่สุด ใช้ได้บ่อยที่สุด ด้วยเหตุผลหลักคือใช้ง่าย
แบบที่สองเป็นไฟฉายที่ไฟแรงๆสว่างๆ เพื่อที่จะได้ส่องดูสิ่งที่อยู่ไกลๆ ตัวนี้เป็นไฟฉายสำรอง จึงควรปรับได้ทั้งไฟอ่อนและไฟสว่าง เพราะหากไฟฉายตัวแรกเสีย จะได้ใช้ตัวนี้ทำงานระยะใกล้แทน หรือถ้าต้องการส่องไกลก็ใช้ไฟฉายตัวนี้ช่วย ปัญหาของไฟฉายที่สว่างๆ คือ ถ่านหมดไว เมื่อถ่านอ่อนแล้ว ความสว่างจะไม่ต่างจากไฟฉายไฟอ่อนทั่วไป ดังนั้น ไฟฉายสว่างๆ จึงควรเก็บไว้ใช้เฉพาะเวลาจำเป็น
ไฟฉายที่ปรับได้ทั้งไฟแรงและไฟอ่อน ถ้าเป็นแบบที่ใช้ปุ่มเดียวกดสลับไปมา จะใช้ยุ่งยาก เพราะมักจะต้องกดหลายรอบ กว่าจะได้ไฟที่ต้องการ ไฟฉายที่ใช้งานได้สะดวกขึ้นคือ แบบปรับไฟโดยไม่ใช้กดปุ่ม แต่ใช้วิธีอื่นเช่น ใช้ dimmer แบบหมุนได้ หรือถ้าฉลาดกว่านั้นก็สามารถปรับไฟได้อัตโนมัติ
ไฟฉายทั่วไปจะใส่ถ่าน 3 ก้อน ถ้าเข้าป่าไปไม่กี่วัน คงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเข้าป่าไปเป็นอาทิตย์แล้วถ่านอ่อน จะไม่สามารถใช้ถ่านจากอุปกรณ์อื่นได้ เพราะอุปกรณ์อื่นอย่างเช่น gps, กล้องถ่ายรูปราคาถูกๆ ล้วนแต่ใช้ถ่าน 2 ก้อนทั้งนั้น เราจึงควรใช้ไฟฉายที่ใช้ถ่านจำนวนเท่ากับอุปกรณ์อื่น จะได้ไม่ต้องแบกถ่านสำรองไปหลายๆแบบ ถึงแม้ว่าถ่านจะใช้กับอุปกรณ์อื่นจนไฟหมดแล้ว แต่มักจะเหลือไฟพอให้ใช้กับไฟฉายต่อได้อีกนาน
เวลาเดินตอนกลางคืนในป่าที่อันตราย จำเป็นต้องมองซ้ายขวาอยู่ตลอดเวลา จึงไม่เหมาะที่จะใช้ไฟฉายคาดหัว เพราะว่าหัวจะต้องหมุนไปหมุนมาตามไฟฉาย เพื่อส่องดูสิ่งต่างๆ ทำให้เวียนหัว ถ้าใช้ไฟฉายคาดหัวก็สามารถถอดออกจากหัวแล้วใช้มือถือได้ การเดินตอนกลางคืนในป่าที่อันตราย ควรใช้ไฟฉายทั้งมุมกว้างและมุมแคบ มุมกว้างสำหรับมองดูบริเวณเท้า เพื่อไม่ให้เหยียบงู ส่วนมุมแคบใช้มองดูไกลๆ ว่ามีสัตว์ป่าอยู่หรือไม่ ไฟฉายบางยี่ห้อจะส่องทั้งมุมกว้างและมุมแคบในคราวเดียวกัน แต่ก็ยังใช้ลำบาก เพราะ ถ้าจะมองไกลก็ต้องเงยหัวขึ้น ถ้าจะมองใกล้ก็ต้องกดหัวลง วิธีที่สะดวกที่สุดเวลาเดินคือ ใช้ไฟฉาย 2 อัน อันหนึ่งมุมกว้างใช้คาดหัว อีกอันหนึ่งมุมแคบใช้มือถือเพื่อส่องไกลออกไป ยกเว้นจะเดินในป่า ในสถานที่ๆไม่มีอันตราย อาจใช้ไฟฉายมุมกว้าง เพื่อส่องดูพื้นอย่างเดียวได้ง
ไฟฉายสีอุ่นหรือสีเหลืองจะดีกว่าไฟสีขาวจากหลอด led ตรงที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของงูกับกิ่งไม้ และตัดหมอกได้ดีกว่า ส่วนแสงสีแดง ไม่มีประโยชน์อะไร ที่พอเห็นจะใช้ได้คือ เวลาตื่นมากลางคืนเพื่อหาของ แสงจากหลอดไฟปกติสว่างเกินไป ไฟสีแดงจะช่วยไม่ให้แสบตาตอนที่เปิดใหม่ๆ แต่ถ้าแค่ดูนาฬิกาแนะนำให้ใช้นาฬิกาแบบมีไฟในตัวจะดีกว่า
ไฟฉายคุณภาพดี ดูตรง battery contact ที่เป็นหน้าสัมผัสกับถ่าน จะไม่ใช้สปริง แต่จะใช้แผ่นเหล็กแทน เนื่องจาก สปริงที่ใส่ถ่านไว้สักพัก จะเริ่มอ่อนตัว ถ้าเขย่าไฟฉาย สปริงที่อ่อน จะทำให้ถ่านเด้งไปมา จนไม่สัมผัสกับสปริง เวลากระเทือนจะทำให้ไฟดับ ต้องคอยกดใหม่อยู่เรื่อยๆ ไฟฉายที่รังถ่านใช้สปริง อย่างเช่น ฟีนิกส์ของจีน หรือออสแรมของเยอรมัน เวลาเขย่าแล้วไฟดับได้
ส่วนตะเกียงนั้นไม่จำเป็นต้องพกไปให้หนัก เพราะไฟฉายคาดหัว สามารถแขวน ใช้แทนตะเกียงได้ ไฟฉายคาดหัวจะวางกับพื้นหรือแขวนไว้กับกิ่งไม้ก็ยังส่องได้
เวลาเดินในป่าตอนกลางคืน ควรจะใช้ไฟฉายเสมอ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มืดมาก เพราะอาจเดินไปเหยียบงู หรือตะขาบ แล้วโดนมันกัดได้ แค่โดนตะขาบกัด ก็อาจทำให้เท้าบวมจนใส่รองเท้าไม่ได้
ไฟฉายที่เชื่อถือได้ นอกจากจะทนชื้นทนกระแทกแล้ว เวลาที่ถ่านอ่อน จะต้องยังมีไฟอยู่ ไฟฉายบางตัว พอถ่านอ่อน จะดับไปเลย
ช่วงหัวค่ำ เป็นช่วงที่แมลงออกหากิน ไฟฉายคาดหัวจะมีแมลงบินมาตอม บางตัวบินมาเข้าตาเลย แค่แมลงบินเข้าตาสักตัวก็เสียศูนย์แล้ว ช่วงนี้จึงควรใส่แว่นตาป้องกัน
ถ้าไม่มีไฟฉาย การก่อไฟจะเห็นได้ไกลประมาณ 5 เมตร แต่ถ้าสุมไฟให้แรงๆ จะเห็นได้ไกลประมาณ 10 เมตร ถ้าจะเดินไปไหนไกล ต้องทำคบไฟขึ้นมาใช้แทน ถ้าเป็นไม้แห้งตามธรรมชาติ ให้ใช้กิ่งไม้เล็กๆ รวมกันให้เป็นกำ แต่จะติดไฟอยู่ได้ไม่นาน และต้องควบคุมไฟไม่ให้ดับ ด้วยการกดหัวลงและพลิกไปมา ถ้าต้องการให้ติดไฟนานขึ้น และสามารถถือให้ไฟลุกอยู่ด้านบนได้ ต้องใช้เศษไม้มาคลุกน้ำมันพวก ยางสน หรือ น้ำมันยางซึ่งได้จากพืชตระกูลยาง เมื่อคลุกแล้วจะเรียกว่าขี้ไต้ แล้วนำมาห่อด้วยใบไม้ขนาดใหญ่สัก 2 ชั้น มัดไว้เป็นท่อนๆ พอมือถือได้ ถ้าต้องการทำด้ามไม้สำหรับถือ ให้ใช้ไม้เนื้ออ่อนเช่น ไม้ไผ่ ผ่าปลายออกเป็นอย่างน้อยสองส่วน เพื่อให้อ้าออก แล้วยัดไม้คลุกน้ำมันลงไป ถ้าใช้ไม้แข็งผ่าแล้วไม่ยอมอ้าออกมา ให้หาไม้มาเหลาเป็นรูปลิ่มแล้วตอกลงไป
พืชตระกูลยาง จะแทงยอดสูงกว่าต้นไม้รอบๆ มักจะสูงถึง 30-50 เมตร ลำต้นตรงเหมือนเสา เริ่มตั้งแต่โคนต้นขึ้นไป เมื่ออยู่ที่ความสูง 0-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะเป็นต้นยางนา อาจมีต้นตะเคียนปนอยู่ด้วย การดูชนิดของต้นไม้ นิยมดูที่ กิ่ง ใบ เปลือก และลำต้น ยางนาจะมีกิ่งจะงอกออกมาจากลำต้นในแนวเกือบตั้งฉาก แตกกิ่งออกเป็นพุ่ม ตั้งแต่ระดับกลางลำต้นขึ้นไป
.
เพราะกิ่งที่อยู่เตี้ยๆ มักจะหลุดร่วงลงมาหมดแล้ว ใบยางนาจะคล้ายใบมะม่วง แต่ใบใหญ่กว่าและยาวกว่า คือขนาดใหญ่กว่ากว่าฝ่ามือเล็กน้อยทั้งด้านกว้างและด้านยาว ลำต้นขนาดเกือบ 2 คนโอบ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ลองแกะดู จะแกะได้บ้าง บางต้นแกะยาก บางต้นเลาะเปลือกออกมาแล้ว บางครั้งมีน้ำยางติดมาด้วย แสดงว่าใช่ บางต้นเป็นแผลอยู่แล้ว เพราะมีแมลงเข้าไปทำรัง จะเห็นน้ำยางได้ชัดโดยไม่ต้องแกะเปลือก (ซึ่งเรามักจะเห็นขี้แมลงเป็นสายขี้เลื่อยปนอยู่ด้วย) คนที่นำน้ำมันยางนามากลั่นเป็นน้ำมันดีเซล จะเจาะรูเข้าไปลึกประมาณ 15-20ซม. เจาะทำมุมชี้ขึ้น 45องศา พอใช้เสร็จจึงนำกิ่งยางนามาตอกเข้าไป จะสมานแผลกลับคืนมาเป็นเนื้อไม้ธรรมชาติ
.
ต้นยางนาจะออกดอกช่วงหน้าร้อน เดือน มีค.-พค. ดอกจะกลายเป็นผลช่วงต้นมรสุม เดือน พค.-มิย. ผลยางนามีปีกเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัว เพื่ออาศัยลมมรสุมพัดพาไปตกในที่ห่างไกลเพื่อขยายพันธุ์ แต่ถ้าปีไหนที่อากาศไม่ร้อนจัด เช่น มรสุมเข้าช่วงสงกรานต์ ยางนาจะไม่ออกผล เพราะ ดอกเล็กๆที่ยังไม่สมบูรณ์ พอเจอมรสุม ก็จะร่วงหมด ไม่ทันได้เจริญพันธุ์เป็นดอกที่สมบูรณ์ ถ้าเป็นป่าดิบเขาที่ความสูง 300-1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะไม่มียางนา
.
แต่เปลี่ยนเป็นต้นยางพันธุ์อื่น ซึ่งปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น ยางเสี้ยน ยางปาย ยางแดง ส่วนที่ความสูงเกิน 1000 เมตรจะเปลี่ยนเป็นต้นสน สามารถใช้ยางสนมาจุดไฟได้ โดยขูดเปลือกไม้ออกมาให้ถึงเนื้อไม้ หรือ ตัดกิ่งไม้ออกมา แล้วรอสักพัก จะมียางสนซึมออกมาเรื่อยๆ
.
เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์
คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5
.
คู่มือเดินป่าตอนที่5...https://goo.gl/5ACh2f
.
คู่มือเดินป่าตอนที่6...https://goo.gl/vx1qtc
- คู่มือเดินป่า..ตอนที 1...http://survivethailand.blogspot.com/2018/01/1.html
- วิธีการอยู่รอดในป่า..ตอน"5วิธี..เอาตัวรอดเมื่อหลงป่า" http://survivethailand.blogspot.com/2018/01/5.html
- เอาชีวิตรอดในป่าตอน.."3เทคนิคการหาน้ำดื่มกลางป่า"(มีคลิป)http://survivethailand.blogspot.com/2018/01/3.html
By :อยู่อย่างเสือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น