โพสต์แนะนำ

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 "เตรียมตัวก่อนเข้าป่า"

คู่มือเดินป่า..ตอนที 1 ทำไมต้องเดินป่า การเดินในป่า เป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ...

คู่มือเดินป่าตอนที่10 ... "เดินป่าอย่างไร ไม่ให้เจ็บตัว"

 คู่เมื่อเดินป่าตอนที่ 10  

"เดินป่าอย่างไร ไม่ให้เจ็บตัว"


การเดินป่าวันแรก ควรจะเดินช้าๆตามกำลังของร่างกาย ออมแรงไว้ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ตามคนหน้าถ้าฝืนรีบเดิน อาจช็อกหรือหมดแรง เมื่อออมแรงดีแล้ว วันต่อมา ร่างกายเริ่มปรับตัวแล้ว จะเริ่มเดินเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าวันสุดท้าย หรือช่วงเย็น ที่คนอื่นหมดแรง แต่เรายังมีแรงอยู่เหลือเฟือ


วิธีเดินป่าไม่ให้ลื่นล้ม คือ หาที่จับก่อนแล้วค่อยก้าว ถ้าเดินในป่า ให้จับต้นไม้ แล้วทดลองเหยียบให้แน่ใจว่า ดินข้างหน้าไม่เป็นหลุม ควรจะเกาะต้นไม้ทั้ง 2 มือ เผื่อว่าไปจับโดนไม้ผุทำให้เสียหลัก ถ้าลงทางชัน ไม่มีต้นไม้ให้เกาะ ให้นั่งยองๆ แล้วใช้มือยันกับก้อนหินหรือดินที่พื้น แล้วค่อยยื่นขาออกไปทีละข้าง ถ้าเดินในลำห้วย อาจจะจับก้อนหิน ลองแหย่ขาออกไปเหยียบหินก้อนต่อไป แล้วขยับเท้าให้แน่ใจก่อนว่าจะไม่ลื่นหรือหินพลิก จึงค่อยก้าวออกไป ถ้าน้ำลึกมาก ก้มลงไปจับก้อนหินไม่ได้ ให้ใช้ไม้เท้า 2 อันช่วยค้ำ ถ้าไม่มีไม้เท้า พยายามก้าวสั้นๆ จะทรงตัวขึ้น

วิธีเดินขึ้นเขาไม่ให้เหนื่อยคือ ดูลมหายใจ ดูว่ากำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก ลมหายใจยาวหรือสั้น ลมหายใจแรงหรือเบา ดูอยู่อย่างนี้ก็จะลืมความเหนื่อย แต่ถ้าเผลอใจลอยไปคิดเรื่องอื่นอาจจะเหนื่อยอีก ถ้าเริ่มเหนื่อย พยายามเดินช้าลง ก้าวสั้นๆ ถ้าคนหน้าเดินเร็ว เราจะพยายามเร่งสปีดเพราะกลัวเดินตามคนหน้าไม่ทัน   ช่วงเวลาที่พยายามเดินให้เร็วขึ้นนี้เองจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เรียกว่า มัวแต่ดูคนอื่นจนลืมดูตัวเอง หรือถ้ามัวแต่คิดว่าเหนื่อยก็จะยิ่งเหนื่อย แต่ถ้าเปลี่ยนมาดูลมหายใจ เราจะพยายามควบคุมการเดิน ไม่ให้ลมหายใจเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป

ถ้าไปกันหลายคน แล้วมีคนที่เหนื่อยจนเดินไม่ไหว เปลี่ยนให้คนนั้นมาเดินนำหน้า เขาจะหายเหนื่อย เพราะการเดินตามก้นคนอื่น จะมีแรงกดดัน แต่การเดินนำหน้าจะเดินตามกำลังของตัวเอง

การอาบน้ำก็เช่นกัน วิธีอาบน้ำเย็นไม่ให้หนาวคือ เปลี่ยนมาดูลมหายใจ

หลังจากลงเขามาแล้ว วันรุ่งขึ้นจะเจ็บกล้ามเนื้อขาเวลาย่อขาเพื่อขึ้นลงบันไดหรือทางชัน ทำให้เดินขาตรงได้อย่างเดียว สาเหตุเกิดจากลงเขาผิดวิธี คือ ลงเขาเร็วเกินไป และใช้กล้ามเนื้อขาเบรคมากเกินไป วิธีป้องกันคือ เวลาลงเขา พยายามลงช้าๆ หาต้นไม้เกาะ หาไม้เท้ายัน เพื่อใช้กล้ามเนื้อขาให้น้อยที่สุด บางคนเข้าใจผิดไปกินยาคลายเนื้อ แล้วไม่ดีขึ้น เพราะสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัว แต่เกิดจากกล้ามเนื้อบอบช้ำ ทางรักษาที่ดีที่สุดคือ หยุดพัก รอให้ผ่านไปสัก 2-3 วันจึงเริ่มดีขึ้น ถ้าสัก 1 สัปดาห์ก็จะหายสนิท

เมื่อเจอภัยธรรมชาติ

เมื่อมีภัยธรรมชาติ ไม่ควรเข้าป่า ถ้าอยู่ในป่าก็ควรจะรีบออกจากป่า หรือ หาย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย  เช่น ถ้าฝนตกทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันหลายวัน มีโอกาสเจอน้ำป่าหรือดินถล่ม หรือ พื้นที่ๆที่ตามปกติมีลมพัดอ่อนหรือไม่มีลม แล้วจู่ๆเกิดพายุเข้า อาจได้รับอันตรายจากกิ่งไม้หล่นใส่ มีตัวอย่างวันที่ 2 ตค. 2552 มีลมพายุแรงพัดผ่านป่าเขาใหญ่ ลมแรงขนาดที่ทำให้ต้นหญ้าลู่เกือบติดพื้น ลมพัดออกจากช่องเขาแถวนครนายก แรงขนาดทำให้ใบไม้เปลี่ยนสี ซึ่งปกติแล้วเขาใหญ่จะมีแค่ลมพัดเอื่อยๆ พอหลังจากลมสงบ ผมเข้าไปเดินป่าแล้วพบว่า ต้นไม้ใหญ่น้อยหักขวางทางเต็มไปหมด บริเวณที่ต้นไม้ล้มจะปกคลุมด้วยกิ่งไม้และเถาวัลย์จนไม่มีทางเดินผ่านไป ได้เลย หลังจากผ่านไป 1 ปี ผมกลับเข้าไปดูบริเวณที่ต้นไม้ล้มอีกครั้ง ปรากฎว่า เริ่มมีทางเดินแคบๆที่สัตว์ทำไว้ให้

อย่าให้เจ็บตัว

เวลาเดินป่า พยายามระวังอย่าให้เจ็บตัว ถ้าเจ็บตัวแล้ว อยู่บ้านยังพักได้ พอเจ็บป่วยในป่าแล้ว หยุดพักไม่ได้ ถึงป่วยก็ต้องเดิน ถึงเจ็บมือก็ยังต้องใช้มือหยิบจัดของในเป้ทุกวัน เวลาอยู่ในป่า ร่างกายมีโอกาสได้รับความบอบช้ำง่ายมาก จุดที่บาดเจ็บง่ายที่สุดคือ มือและเท้า
ถ้าเข้าป่าระยะสั้น 1-2 คืน ถึงเจ็บตัวก็ยังพอทนได้ ออกจากป่ามาแล้วพักได้  แต่ถ้าเข้าป่าหลายๆวัน พอเจ็บตัวแล้วจะเดินทางต่อลำบาก เวลาเข้าป่าหลายวัน จึงควรจะถนอมร่างกายให้มากที่สุด อย่าให้เจ็บ อย่าให้ป่วย ด้วยการ
  • สวมถุงมือ ป้องกันหนามตำหักคาผิวหนัง มือที่เจ็บจะหยิบจับของไม่ได้ ถ้าเผลอไปโดนจะยิ่งเจ็บมาก และทำให้แผลหายช้าลง
  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และมีผ้าปิดคอ ตลอดเวลา เพื่อป้องกันยุงและริ้น และฉีดยาป้องกันเห็บและทากอย่าให้ขาด
  • เดินด้วยความระมัดระวัง อย่ารีบ เพราะถ้าพลาดล้ม จะเจ็บตัว นิ้วมือบวม เท้าแพลง
  • ถ้าต้องเดินฝ่าดงหนาม แล้วโดนหนมตำบริเวณหน้าแข้ง ให้หาใบไม้หนาๆเช่น ว่านหางจรเข้ (อย่าลืมขูดหนามออก) นำมาแปะไว้ตรงหน้าแข้งแล้วครอบให้อยู่กับที่ด้วยถุงเท้า ใบไม้หนาๆจะช่วยรับหนามแทนหน้าแข้ง
เมื่อร่างกายมีปัญหา ไม่สบาย หรือ เป็นแผล สิ่งที่ควรทำคือ พักอยู่กับที่ หรือ หาทางออกจากป่าให้เร็วที่สุด อย่าฝืนเดินทางต่อไปยังจุดหมาย มิฉะนั้น จะยิ่งเจ็บตัวมากขึ้นจนอาจจะกลับไม่ได้

เมื่อส่วนใดของร่างกายบาดเจ็บ หากหยุดพักอยู่กับที่ ผ่านไป 1 สัปดาห์อาการจะเริ่มดีขึ้นมาก ถ้าพักนาน 2 สัปดาห์จะหายสนิท แต่ถ้าส่วนที่บาดเจ็บนั้นถูกใช้งานโดยไม่หยุดพัก ก็จะไม่หายสักที ดังนั้น หลังออกมาจากป่าแต่ละครั้ง ควรเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ ก่อนเข้าป่าครั้งต่อไป  เพื่อรักษาตัวให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ

เครดิต:ผู้เขียนเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง จึงไม่มีลิขสิทธิ์

อ่านต่อบทความคู่มือเดินป่า...ตอนที่ 11>>>>>>>>

คู่มือเดินป่าตอนที่1...https://is.gd/SgkF3
.
คู่มือเดินป่าตอนที่2...https://is.gd/P5Rw0
.
คู่มือเดินป่าตอนที่3...https://is.gd/lANrL
.
คู่มือเดินป่าตอนที่4...https://is.gd/FBvf5
.
คู่มือเดินป่าตอนที่5...https://goo.gl/5ACh2f
.
คู่มือเดินป่าตอนที่6...https://goo.gl/vx1qtc

คุณสามารถติดตามพูดคุยกับเราได้ที่>>>  เพจ"เอาตัวรอดในป่า"


By :อยู่อย่างเสือ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น